ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” แต่ถ้าใครหยั่งถึงได้ก็จะเข้าใจและล่วงรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมนุษย์

เมื่อประภาศรีเข้าเรียนในชั้นมัธยม เธอต้องปรับเปลี่ยนชีวิตของเธอไปเป็นอย่างมาก แต่เดิมเมื่อตอนที่เรียนชั้นประถม ก็เรียนในโรงเรียนแถวบ้าน เพียงแค่เดินไปสัก 10 กว่านาทีก็ถึงโรงเรียน แต่พอเข้าเรียนชั้นมัธยมที่คนสมัยนั้นมีค่านิยม “เห่อ” แข่งขันกันให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งเธอก็สนองตอบต่อความต้องการของพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่ก็ทำให้เธอต้องลำบากมากขึ้น เพราะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเดินออกจากสวนไปขึ้นรถสองแถวในซอย เพื่อออกไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนใหญ่ ใช้เวลาอย่างน้อย ๆ ก็กว่าชั่วโมงครึ่งจึงจะถึงโรงเรียน ยังดีที่ว่าในสมัยเมื่อ 50 ปีก่อนนั้นกรุงเทพฯยังมีปัญหารถติดไม่มาก และเธอก็ยังโชคดีที่มีพี่ชายเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้นอยู่ก่อนแล้ว เธอจึงมีพี่ชายเดินทางเป็นเพื่อนไปโรงเรียนทุกวัน อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องความปลอดภัยของเธอ กับความสบายใจของพ่อแม่ที่ไม่ต้องคอยตามรับตามส่งเหมือนลูก ๆ หลาย ๆ คนในโรงเรียนแห่งนั้น

ชีวิตในชั้นมัธยมค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย  การแข่งขันกันสูงมาก ยิ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังแห่งนี้ที่มีคนสอบ “ติดบอร์ด” คือได้คะแนนสูง ๆ ของประเทศอย่างผูกขาด เธอก็ต้องถูกกลืนเข้าไปใน “หลุมดำทางการศึกษา” ณ สถานศึกษาแห่งนั้นด้วย เธอจำได้ว่าเวลาที่เรียน คุณครูแต่ละคนจะย้ำอยู่ตลอดทุก ๆ ชั่วโมงว่า “เราต้องเป็นที่ 1” และจะเป็นการเรียนแบบ “ติวเข้ม” ทั้งในและนอกห้องเรียน คือครูจะให้ข้อสอบทำกันในทุก ๆ ชั่วโมง แล้วพอออกมานอกห้องเรียน ในช่วงที่ว่างจากการเข้าห้องน้ำ กินข้าวและขนมแล้ว นักเรียนก็จะมาจับกลุ่มติวกันเอง รวมถึงที่มีการจัดชั้นเรียน “นอกเวลาเรียน” เพื่อการติวอย่างเข้มข้นนั้นอยู่เสมออีกด้วย

เธอมารู้สึกตัวว่าได้หลุดพ้นจาก “ฝันร้ายทางการศึกษา” ก็ในตอนที่เธอได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัย โดยเธอได้เลือกคณะที่มีการแข่งขันไม่สูงมากนัก ในมหาวิทยาลัยที่ก็มีชื่อเสียงมาก เพียงแต่ไม่ใช่ในคณะที่เป็นที่รวมของ “ที่ 1 ของประเทศ” ในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนนี้กำเนิดมาจากแนวคิดของ “ตลาดทางการศึกษา” ที่เปิดกว้างแก่ผู้คนทุกผู้ทุกนาม และเน้นในเรื่อง “เสรีภาพทางการศึกษา” เป็นสำคัญ (แต่ภายหลังก็ถูกกลืนเข้าไปใน “หลุมดำทางการศึกษา” ด้วยเช่นเดียวกัน)

โชคร้ายยังมาสู่เธออีกบ้าง เมื่อในยุคที่เธอเข้ามาเรียนเป็นยุคที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ “ล้อมปราบฆ่า” นักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเพิ่งผ่านไปเพียง 2 ปี ทำให้กิจกรรมหลาย ๆ อย่างของนักศึกษาถูกระงับโดยทางอ้อม คือไม่สามารถที่จะออกไปทำงานมวลชน หรือมีกิจกรรมเกี่ยวกับประชาชนได้มากนัก แต่เธอก็ยังมีโชคดีอยู่บ้าง ที่ได้ทำกิจกรรมที่เธอเคยชื่นชอบมาแต่เด็ก ๆ นั่นก็คือ “เข้าวัด” ด้วยเหตุที่มีพี่ ๆ กลุ่มหนึ่งต้องการหาน้อง ๆ ที่เคยเข้าวัด หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นเด็กวัด หรืออาสาช่วยงานวัด หรือมีบ้านอยู่ใกล้วัด ให้มาช่วยกันทำกิจกรรมของ “ชมรมเข้าวัด” นี้ ซึ่งประภาศรีบอกว่าเธอเคยเลี้ยงหมาและแมวของวัด ทำให้เธอได้รับตำแหน่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชมรม คือผู้ช่วยด้านสังฆาธุระ หรือช่วยแบ่งเบางานต่าง ๆ ของพระสงฆ์ ซึ่งก็คือการต้อนรับประชาชนที่มาทำบุญในวัดนั่นเอง

เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาในช่วงเวลานั้น เป็นที่จับตามองของฝ่ายความมั่นคงเป็นอย่างมาก การออกต่างจังหวัดก็มักไม่ได้รับการอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คงอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ นั่นเอง ชมรมเข้าวัดจึงต้องจัดกิจกรรมกันใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีวัดรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัดมหาธาตุที่อยู่ข้าง ๆ กัน ตอนแรกท่านเจ้าอาวาสก็หวาด ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะไม่อยากให้เป็นที่เข้ามายุ่มย่ามของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ที่เรียกด้วยภาษาของชาวบ้านที่มาทำบุญในวัดว่า “พวกหัวเกรียน” แต่เมื่อทางชมรมรบเร้าว่า อยากเข้ามาใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ท่านก็อนุญาต โดยสมาชิกของชมรมได้เข้าร่วมเป็นผู้รับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ของวัด ที่มีมากเป็นอันดับ 1 ก็คือ การฝึกสมาธิ และรองลงไปก็คือการเรียนพระอภิธรรม ซึ่งประภาศรีก็สมัครเข้าเรียนในทั้งสองหลักสูตรนั้น นอกเหนือจากหน้าที่หลักของการเข้าไปช่วยต้อนรับประชาชนที่วัดนั้น ซึ่งก็คือการเชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ของทางวัดนั่นเอง

ประภาศรีรู้สึกมีความสุขที่ได้ใกล้ชิดพระศาสนา เธอเรียนวิชาการทำสมาธิจนเชี่ยวชาญ จนสามารถเป็นครูสอนคนอื่นได้อีก ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับอภิธรรมนั้นค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องของวิชาการค่อนข้างมาก แต่เมื่อนำมาศึกษาร่วมกับการทำสมาธิแล้ว ก็ทำให้เธอเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะที่เดียวกับการศึกษาเรื่องดวงจิตและฌานต่าง ๆ (ซึ่งเธอได้ตั้งเรียนในหลักสูตรที่สูงขึ้น ในตอนที่จบมหาวิทยาลัยแล้ว จนได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตในเวลา 4 ปี) จนบางทีทำให้เธอรู้สึกเหมือนเกิด “วิมุตติ” คือหลุดพ้นจากความวิตกวุ่นวายต่าง ๆ เพียงแต่เธอก็พยายามยับยั้งไว้ไม่ให้เลยเถิด อย่างที่เธอได้เห็นบางคนที่คิดว่าได้ค้นพบวิมุตติ แล้วมุ่งมั่นจะไปสู่สภาวะที่สูงขึ้น โดยสภาวะที่สูงสุดนั้นคือ “นิพพาน” ที่เธอเห็นว่า เป็นเรื่องเฉพาะของผู้บำเพ็ญบารมีมาอย่างหนัก และจะต้องบวชเป็นพระภิกษุหรือพระภิกษุณีเท่านั้น

พระอภิธรรมที่เธอได้เรียน ทำให้เธอมองโลกได้ลึกและกว้างมากขึ้น เธอมักจะเล่าให้คนที่เชื่อในเรื่องนี้หรือตั้งใจฟังอย่างผมด้วยคนหนึ่งนี้ว่า “ทำให้รู้จักคนและสิ่งรอบตัวดียิ่งขึ้น” เธออธิบายว่าปกติคนเราแม้จะได้รู้จักหรือแม้แต่ได้มาอยู่ด้วยกันแล้ว เช่น แต่งงาน หรือเข้ากลุ่มสมาคมต่าง ๆ ด้วยกันแล้ว บางทีก็เหมือนว่ายังไม่รู้จักกันเท่าไรเลย เพราะคนเราส่วนใหญ่คบกันแต่เปลือกนอก หรือเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างของแต่ละคน เช่น ชายหญิงคบกันเพื่อเพศสัมพันธ์หรือสร้างฐานะครอบครัว เป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้ความสัมพันธ์ไม่ยั่งยืน และความจริงก็ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่ยั่งยืน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะทุกคนยังไม่ได้มีสัมพันธ์กันอย่างถี่ถ้วนถึงขั้น “รู้ซึ้งถึงดวงจิต” ซึ่งเธอได้เรียนมาในวิชาพระอภิธรรม

พระอภิธรรมสอนถึง “องค์ประกอบต่าง ๆ ของชีวิต” เริ่มด้วย “ขันธ์ 5” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันมี “ดวงจิต” ในรูปแบบและระดับต่าง ๆ เป็นผู้กำหนด (ขออภัยในรายละเอียดเกี่ยวกับพระอภิธรรมนี้ อาจจะมีความคลาดเคลื่อน เพราะผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ได้ฟังและเข้าใจมาอย่างนี้ รวมถึงที่ได้ค้นคว้าให้ชัดเจนตามสมควร) ที่สุดของการศึกษาพระอภิธรรมนั้นก็คือ การแสวงหาวิมุตติหรือความหลุดพ้น จนถึงพระนิพพาน หรือการไม่เกิดไม่ดับแล้วนั้นอีกต่อไป

“ดวงจิต” นั้นกำหนดให้เกิด “ชีวิต” คือ “ขันธ์ 5” ที่แปลว่า “เครื่องผูกมัดทั้ง 5” ซึ่งบุคคลที่เข้าใจการเกิดดับของดวงจิตในรูปแบบและระดับต่าง ๆ ก็จะเข้าใจชีวิต และรู้ว่าชีวิตของคน ๆ นั้นจะเป็นไปอย่างไร

ประภาศรีบอกว่าคนที่บวชเป็นพระ ถ้าบวชได้หลายพรรษาจนได้มหาเปรียญ หรืออย่างน้อยในระดับเปรียญธรรม 4 จะเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดดับของดวงจิตต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างดี นั่นก็คือความเข้าใจในชีวิตและความเป็นไปของผู้คนทั้งหลาย และยิ่งหากท่านได้ปฏิบัติ คือทำวิปัสสนากรรมฐานร่วมด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้พระภิกษุผู้นั้นรู้ลึกซึ้งเป็นอย่างดีในตัวคนทั้งหลาย ซึ่งเราจะเห็นว่าพระภิกษุที่บรรลุธรรมขั้นนี้จะมี "เมตตา” สูง และสิ่งที่ท่านประพฤติต่อผู้คนและสรรพชีวิตต่าง ๆ เป็นหลักก็คือ “แผ่เมตตา” เพื่อให้ชีวิตและโลกนั้นดำรงไปได้ต่อไป อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้นั่นเอง

นั่นแหละ จึงมีพุทธวจนอันสำคัญว่า “โลโก ปัตถัมภิกา เมตตา” คือ “ความเมตตาค้ำจุนโลก”