สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

“พระร่วง” ใช่ว่าจะมีการขุดค้นพบเพียงที่ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เท่านั้น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีพระร่วงทั้งประทับยืนและนั่ง ที่มีพุทธศิลปะงดงาม โดดเด่น มีความเป็นเลิศทางพุทธคุณ และทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาไม่แพ้พระร่วงกรุอื่นๆ ทีเดียว 

พระร่วงนั่ง เทริดขนนก พระร่วงนั่ง กรุบ้านดงเชือก

สำหรับ “พระร่วงนั่ง กรุเมืองสุพรรณบุรี” ก็มีมากมายหลายกรุเช่นกัน ที่เด่นดังมี อาทิ พระร่วงนั่งและพระนาคปรก กรุบ้านพลูหลวง, พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง, พระร่วงนั่ง กรุวังวน, พระร่วงนั่ง กรุบ้านดงเชือก และ พระร่วงนั่ง กรุบ้านหนองแจง เป็นต้น

พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง 

แตกกรุเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2529 ณ บ้านพลูหลวง ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยชายหนุ่มคนหนึ่งไปรับจ้างขุดร่องสวนในบริเวณดังกล่าว ได้พบ พระร่วงนั่ง รวมทั้งพิมพ์นาคปรก เป็นพิมพ์ขนาดเล็กจิ๋ว บรรจุอยู่ในไห เคลือบสีน้ำตาลอ่อน จำนวนประมาณ 250 องค์ ต่อมาอีกไม่กี่วันก็มีผู้ขุดพบพระทั้งสองพิมพ์นี้ได้ในบริเวณใกล้ๆ กัน อีกประมาณ 40 องค์

พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง

พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง พุทธศิลปะสมัยลพบุรี ยุคปลาย องค์พระมีขนาดเล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ 1.2 ซม. สูงประมาณ 25 ซ.ม. สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง องค์พระประทับนั่ง ปางสมาธิ บนฐานบัวเล็บช้าง จำนวน 3 กลีบ พระเศียรสวมหมวกลักษณะมงกุฎสามชั้น

ส่วนพระพิมพ์นาคปรก นั้น เป็นพุทธลักษณะพิมพ์ทรงจะเหมือน ‘พระร่วงนั่ง’ ทุกอย่าง ต่างกันเพียง องค์พระจะสูงกว่าเล็กน้อย พระประธานจะประทับนั่งบนขนดนาค และมีพญานาค 7 เศียร แผ่พังพานเหนือพระเศียร

พระร่วงนั่ง กรุวังวน

พระร่วงนั่ง กรุวังวน

นอกจากขุดพบ พระร่วงยืน พิมพ์เศียรโต เมื่อต้นปี พ.ศ.2513 แล้ว ยังขุดพบ พระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขนาดองค์พระเล็กกะทัดรัด เรียกว่า “พระร่วงนั่ง กรุวังวน” ความกว้าง 1. 8 ซม. สูง 2.3 ซม. เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย บนฐานตรงชั้นเดียวที่ค่อนข้างสูง องค์พระสวมหมวกจีโบ (ชีโบ) ตามรูปแบบของศิลปะลพบุรี พระพักตร์ปรากฏพระเนตรคมชัดเจน พระนาสิกโตและยาวจรดพระโอษฐ์ซึ่งมีลักษณะเล็ก พระกรรณทั้งสองข้างยาวจรดพระอังสา (บ่า) แต่ส่วนใหญ่เลือนราง ไม่ชัดเจนนัก  สวมสร้อยพระศอ และกำไลที่พระพาหาทั้งสองข้าง ด้านหลังเป็นหลังเรียบ มีลายผ้าแบบหยาบ และมีคราบไขเกาะติดแน่นปกคลุมไปด้วย

พระร่วงนั่ง กรุบ้านดงเชือก

แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.2535 ที่บริเวณซากโบราณสถานบ้านดงเชือก ต.หนองหญ้าไซ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พบประมาณ 100 องค์ ลักษณะเป็นพระร่วงนั่งเทริดขนนก เนื้อสนิมแดงที่แดงเข้มจัด ที่เรียกว่า ‘แดงลูกหว้า’ อันเป็นที่นิยมในวงการ องค์พระมีขนาดเขื่อง พิมพ์สามเหลี่ยมแบบทรงสูง พุทธศิลปะแบบขอมยุคลพบุรี พระประธานประทับนั่ง ปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานตรงชั้นเดียวองค์พระทรงเครื่องแบบครบเครื่องทรง สวมมงกุฎคล้ายขนนก อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ด้านหลังเป็นลายผ้าหยาบ

พระร่วงนั่งสนิมแดง พิมพ์มารวิชัย กรุบ้านหัวเกาะ

พระร่วงนั่ง กรุบ้านหนองแจง

แตกกรุในราวปี พ.ศ.2508 ที่บ้านหนองแจง อ.ดอนเจดีย์ พระที่พบส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีพุทธศิลปะแบบสมัยอู่ทองล้อลพบุรี มีทั้ง ปางมารวิชัย ปางสมาธิ และพิมพ์นาคปรก

พุทธคุณ

มีพุทธานุภาพด้านแคล้วคลาด ปลอดภัย และคงกระพัน

พระร่วงนั่งสนิมแดง พิมพ์สมาธิ กรุบ้านหัวเกาะ

การพิจารณา

การพิจารณา “สนิมแดง” นั้น ถ้าเป็นของเก่าแก่จะเกิดมาจากเนื้อในเกาะติดแน่น มีลักษณะเก่าและแห้ง ถ้าเอาสำลีมาเช็ดออกเบาๆ จะเกิดความเงาวาวขึ้นทันที นอกจากนี้ สนิมแดงส่วนใหญ่จะปรากฏรอยแตกปริเป็นเส้น ซึ่งจะทำให้สังเกตง่ายขึ้นครับผม