International Rice Award “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาและทดลองทำนามาบ้างและทราบดีว่าการทำนามีความยาก ลำบาก เป็นอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดีและต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน...” ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงให้เห็นถึงความเอาพระทัยใส่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยและอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ จึงได้จัดทำโครงการในเรื่องข้าวอย่างครบวงจรขึ้น โดยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตข้าวครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูกจนกระทั่งถึงการจัดจำหน่ายในรูป แบบข้าวถุง รวมถึงให้ศูนย์ศึกษาฯ เป็นแหล่งรวมข้าวพันธุ์ดี หรือพันธุ์ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลแดุลยเดชในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาข้าว ตลอดจนกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง International Rice Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระองค์แรก. มูลนิธิอานันทมหิดล วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2518 คณะกรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล ได้นำนายแพทย์ธีระ ศิริสันธนะ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคมลาเพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักว่าการศึกษามีวิชาการขั้นสูงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งทุนอานันทมหิดล ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อพุทธศักราช 2502 เพื่อสนับสนุนนักศึกษาไทยที่มีผลการเรียนดีเด่น และมีความประพฤติดีได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาการขั้นสูงสุดยังต่างประเทศ ปัจจุบันทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แบ่งออกเป็น 8 แผนกวิชา คือ แพทยศาสตร์, วิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์, ธรรมศาสตร์, อักษรศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้สร้างบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถรุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติสืบไป. โครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 92 ไร่ อันเป็นโครงการตามพระราชดำริในการใช้บึงมักกะสัน ซึ่งเดิมรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้เป็นแหล่งบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยวิธีธรรมชาติ โดยการใช้ผักตบชวาซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษและบำบัดน้ำเสียได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นผักตบชวาในบึงมักกะสันยังนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยหมัก และพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเปรียบเทียบบึงมักกะสันเป็นเสมือนไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรคให้กับกรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บและระบายน้ำในภาวะที่เกิดภัยน้ำท่วม....ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ได้นำมาซึ่งวันที่สร้างสุขให้กับชาวกรุงเทพมหานครแล้วในวันนี้. โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จ.สมุทรปราการ เพื่อวางศิลาฤกษ์ อาคาร ภปร. ซึ่งพระองค์พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นให้เป็นอาคารเรียนหลังแรก โดยมีความสูง 2 ชั้น ขนาด 8 ห้องเรียน โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ นับเป็นโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์แห่งแรก อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จะให้วัดและพระสงฆ์มีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาและอบรมศีลธรรมจรรยาแก่เยาวชนผู้ยากไร้และขาดที่พึ่ง อันนำมาสู่การก่อตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์ขึ้นอีกหลายแห่งในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งได้ช่วยกันหล่อหลอมเยาวชนยากไร้ให้สามารถเจริญเติบโตเป็นคนดีมีความรู้ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป. อาคารอัดน้ำห้วยหอย นับเป็นเวลายาวนานที่ชาวบ้าน ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นวันที่สร้างความหวังให้แก่ราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับโครงการอาคารอัดน้ำห้วยหอยไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยสายธารพระเมตตาได้นำมาสู่การสร้างอาคารอัดน้ำ ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บและควบคุมระดับน้ำในลำน้ำ ก่อนจะผันเข้าสู่ระบบจ่ายลำเลียงน้ำไปยังพื้นที่บ้านบุรีรัมย์ หมู่ที่ 1 , บ้านเนินทอง หมู่ที่ 2 และบ้านทับเหนือหมู่ที่ 3 ของตำบลในวงใต้ เพื่อให้ราษฎรกว่า 220 ครัวเรือน ได้มีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี ซึ่งจากวันที่สร้างความหวังเมื่อ 5 ปีก่อน ได้นำมาสู่วันที่สร้างความสุขแล้วในวันนี้. เขื่อนศรีนครินทร์ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่บริเวณบ้านเจ้าเณร ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2516 และแล้วเสร็จลงในปี 2523 แต่เดิมนั้นเขื่อนแห่งนี้มีชื่อว่า เขื่อนเจ้าเณร แต่หลังจากสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาขนานนามว่า “ เขื่อนศรีนครินทร์” โดยเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง มีวัตถุประสงค์ในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน บรรเทาอุทกภัย ผลักดันน้ำเค็ม การประมง รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งล้วนสร้างประโยชน์ และนำวันแห่งความสุขมาสู่ผืนแผ่นดินไทย.