ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

มนุษย์เห็นต่างกันเรื่อง “ความดี – ความชั่ว” นี่คือปัญหาของจริยธรรม แล้วใครเล่าจะตัดสิน?

ประภาศรีรับปริญญาแล้วก็สอบเข้ารับราชการในสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่เปิดรับบัณฑิตจบใหม่ในปีนั้น ทั้ง ๆ ที่เธอก็ไม่ได้มีความถนัดในวิชาที่สอบเข้า รวมถึงความตั้งใจก็ไม่มีที่จะทำงานในหน่วยงานลักษณะนี้ เธอจึงทำงานไปและแอบเรียนปริญญาโทไปด้วยพร้อม ๆ กัน ที่ว่าแอบเรียนก็คือไปลงทะเบียนเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตหน่วยงาน พอดีกับที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นเปิดสอนนอกเวลาราชการ แต่กระนั้นก็ต้องใชเวลาเรียนเกือบสี่ปี ระหว่างนั้นเธอก็มองหาที่ทำงานแห่งใหม่ โดยใช้ดีกรีปริญญาโทนั้นสอบเข้า ซึ่งตามแผนของเธอก็คือหน่วยงานราชการแห่งใหม่ เพื่อให้ได้ใช้วุฒิปริญญาโทกับเงินเดือนใหม่นั้นด้วย

ประภาศรีชอบงานบริการ พอทราบว่ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีเปิดรับเจ้าหน้าที่ด้านบริการการศึกษา เธอก็ตัดสินใจสมัครสอบทันที พอสอบได้เธอก็ขอโอนย้ายเข้ามา ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผมสอบโอนมาจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติเพื่อมาเป็นอาจารย์ที่นี่ เราจึงได้มาอบรมเป็นข้าราชการในหน่วยงานใหม่แห่งนี้ด้วยกัน พร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ ที่สอบและโอนเข้ามาจำนวน 30 คน ในเวลาอบรมเกือบ 3 เดือน ทำให้พวกเราสนิทสนมกันพอสมควร อย่างน้อยก็ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นข้าราชการที่เข้ามาใหม่ในปีเดียวกัน

ประภาศรีได้รับคำชมเชยอย่างมากในการทำหน้าที่ที่สำนักบริการการศึกษา ในความขยันขันแข็งและมีความรับผิดชอบ แต่กระนั้นก็มีเสียงค่อนแคะนินทาหรือตั้งข้อสงสัยในนิสัยและความประพฤติบางอย่างของเธอ เป็นต้นว่า เมื่อลงจากรถโดยสารที่มหาวิทยาลัยจัดรับส่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแล้ว เธอจะตรงไหว้พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่กลางสวนหน้าหมาวิทยาลัยนั้นเสียก่อน แม้ว่าหลาย ๆ คนจะยกมือไหว้เวลาที่เดินผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นอยู่แล้ว แต่ประภาศรีจะนั่งพับเพียบลงที่บันไดหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ก่อนที่จะก้มกราบและหมอบอย่างสงบนิ่งอยู่เป็นเวลานาน เหมือนเธอบริกรรมหรือทำพิธีอะไรบางอย่าง โดยบางวันก็จะมีพวงมาลัยสวย ๆ มากราบด้วย ซึ่งก็จะใช้เวลาหมอบก้มอยู่เป็นเวลานานยิ่งกว่าเดิม

ที่ข้างหลังโต๊ะทำงานของประภาศรีมีตู้เหล็กสีเทา ๆ สำหรับใส่เอกสารและพัสดุต่าง ๆ เหมือนของเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ แต่ของประภาศรีจะมีโต๊ะไม้สักเล็ก ๆ กว้างยาวสักคืบคูณคืบ สูงประมาณฝ่ามือ ตั้งวางเจ้าแม่กวนอิมปั้นด้วยเซรามิกขาวสว่าง สูงราวคืบกว่า ๆ ด้านข้างซ้ายขวามีแจกันขนาดสักกำปั้นเด็ก ใส่ดอกไม้สีเงินและทอง รูปทรงคล้ายดอกเบญจมาศ หรือที่คนซื้อขายดอกไม้เรียกว่าดอกมัม (คงมาจากภาษาฝรั่ง Chrysanthemum แล้วเรียกคำหลังสั้น ๆ ว่า “มัม”) ด้านหน้ามีจานกระเบื้องสีขาวขนาดสักฝ่ามือเด็กใส่ผลไม้ ที่ส่วนมากจะเป็นส้มหรือแอปเปิล ๑ ลูก และแก้วน้ำเล็ก ๆ รูปทรงเหมือนไข่ไก่ผ่าครึ่งซีกสีขาว วางอยู่ตรงกลาง พร้อมพานพลาสติคสีทองขนาดสักฝ่ามือเด็กเช่นกัน ใช้วางพวงมาลัยขนาดเล็กที่ประภาศรีจะซื้อมาไหว้ทุก ๆ วันจันทร์ในทุกสัปดาห์ เช่นเดียวกันในเวลาที่เธอไหว้เจ้าแม่กวนอิมนั้นก็จะใช้เวลานานพอสมควร มีคนจับเวลาว่าประมาณ 9-10 นาทีเลยทีเดียว

เวลาพักกลางวัน เธอจะเดินไปทานอาหารที่สโมสรของมหาวิทยาลัยที่อยู่ติดรั้วมหาวิทยาลัยด้านหลัง เมื่อเธอทานเสร็จมีคนเห็นเธอเดินไปซื้อเกาเหลาเนื้อต้มถุงหนึ่งพร้อมข้าวอีก 2 ถุง ก่อนที่จะเดินไปริมรั้วด้านหลัง ซึ่งเป็นลูกกรงเหล็ก แต่ละช่องกว้างราวหนึ่งคืบ เธอจะเทเกาเหลาลงถุงข้าวทีละถุง แล้วหย่อนเทลงไปในกระบะพลาสติกที่วางอยู่ด้านนอกรั้ว ที่ตรงนั้นจะมีสุนัข 3-4 ตัวมาคอยกินข้าวคลุกเกาเหลานั้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งประภาศรีก็จะต้องไปให้อาหารนั้นทุกวันเช่นกัน เว้นแต่วันที่เธอไม่สบายหรือลากิจไปทำธุระ ก็ดูเหมือนว่าสุนัขนั้นจะรู้และไม่ได้วุ่นวายอะไร เพราะคงมีคนอื่น ๆ มาให้อาหารอยู่เช่นเดียวกัน (ต่อมามีผู้บริหารมาหวิทยาลัยชุดหนึ่งเกิดไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ก็ได้ให้เทศบาลปากเกร็ดมาจับสุนัขเหล่านั้นไป พร้อมกับประกาศห้ามคนของมหาวิทยาลัยนำอาหารไปป้อนสัตว์ต่าง ๆ กระนั้นประภาศรีและคนที่รักสัตว์ก็รวมตัวกันรวบรวมเงินไปซื้ออาหารให้สัตว์เหล่านั้นอยู่เป็นประจำ อย่างน้อยก็เดือนละครั้ง)

ในอำเภอปากเกร็ดยังเป็นที่ตั้งของสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ หลายแห่ง ประภาศรีมักจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการชักชวนคนโน้นคนนี้ไปร่วมบริจาคหรือสงเคราะห์ผู้คนในสถานที่เหล่านนั้นอยู่เสมอ ๆ แม้แต่เวลาที่นักศึกษาที่มาอบรมหรือมาใช้บริการที่มหาวิทยาลัย หากนักศึกษาต้องการจะทำบุญเธอก็มักจะเสนอให้ทำบุญกับสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เหล่านั้น จนเธอได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่สายบุญ” ในขณะเดียวกันเมื่อเห็นเธอเที่ยวเคารพสักการะสิ่งต่าง ๆ ไปทั่วมหาวิทยาลัย คนก็กล่าวหาเธอว่าเป็น “เจ้าแม่สายมู”

ผมคุยกับเธอในหลาย ๆ เรื่อง แต่ยังไม่กล้าที่จะถามถึงฉายาต่าง ๆ ที่เธอได้รับ จนวันหนึ่งเธอก็พูดออกมาเองว่า เธอชอบทั้งสองฉายา แม้ว่าเธอจะไม่ชอบฉายาเจ้าแม่สายมู ที่ดูเหมือนจะทำให้คนทั้งหลายมองว่าเธอเป็นคนที่ลุ่มหลงงมงายในไสยศาสตร์หรือเรื่องผี ๆ สาง ๆ ทั้งหลาย เพราะความจริงนั้นเธอแสดงกับทุกสิ่งด้วย “เมตตา” เท่านั้น

เธอบอกว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมีชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นพืชหรือสัตว์ ดินฟ้าอากาศ หรือข้าวของเครื่องใช้ ทั้งสิ่งที่เรามองเห็นหรือสัมผัสได้ กับสิ่งที่มองไม่เห็นหรืออาจจะไม่สามารถสัมผัสรับรู้ได้ ชีวิตของบางอย่างก็ไม่เหมือนกับชีวิตที่เรารู้จัก แม้แต่หมาแมวก็มีชีวิตที่แตกต่างจากคน ในทำนองเดียวกันชีวิตของพืชก็ไม่เหมือนของสัตว์ หรือชีวิตของมนุษย์ต่างดวงดาวก็ไม่เหมือนกับชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้

เธอเชื่อว่าแม้ทุกสิ่งจะแตกต่างกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่ทุกสิ่งเหล่านั้นต้องการเมือนกัน คือ สมดุลยภาพ คือความนิ่งสงบ ถ้าเป็นสังคมมนุษยชาติและผู้คนทั้งหลายก็คือสันติ ถ้าเป็นระบอบการเมืองและสังคมโดยทั่วไปก็คือความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ที่สำคัญคือทุกสิ่งนั้นต้องการ “ชีวิต” ซึ่งก็คือชีวิตที่เป็นความหมายของแต่ละสรรพสิ่งนั้น มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์ที่อุดมด้วยปัญญา ที่เรียกว่าสัตว์ประเสริฐ จึงพึงหน้าที่ที่จะต้องเข้าใจความเป็นไปของแต่ละชีวิต แต่ถ้าเราไม่เข้าใจก็ไม่มีอะไรสะดวกไปกว่าการ “แผ่เมตตา” อันหมายถึงความพยายามที่จะเข้าในทุกสรรพสิ่งนั้น ๆ นั่นเอง

“เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” เป็นธรรมะที่เรียกว่า “เครื่องค้ำจุนโลก” คือไม่เพียงแต่จะรักษาโลกนี้ไว้ แต่ยังหมายถึงโลกของสรรพสิ่ง โดยมีเมตตาเป็นข้อแรกของเครื่องค้ำจุนโลกนั้น

เมตตา มีความหมายว่า ความรักใคร่ ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข มีจิตใจอันแผ่ไมตรี และคิดทำประโยชน์กับมนุษย์และสัตว์ทั่วหน้า

ประภาศรีบอกว่าพระพุทธเจ้าท่านคงไม่ได้จำกัดเฉพาะความเมตตาที่จะมีให้แต่มนุษย์และสัตว์ แต่โดยที่โลกนั้นยังมีสิ่งอื่น ๆ อยู่ร่วมด้วย ความเมตตาที่มีจึงควรจะแผ่ขยายถึงสิ่งอื่น ๆ นั้นด้วย

ประภาศรีบอกว่าโลกนี้มีปัญหาเพราะมีความเห็นเรื่องจริยธรรม หรือ “ดี- เลว” ที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเราไม่ไปสนใจที่จะแยกแยะหรือแยกดีชั่วเหล่านั้น แต่มองทุกสิ่งด้วย “เมตตา” หรือถ้าเป็นศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ก็คือ “ความรัก” เราก็จะไม่ตัดสินใครว่าดีเลว แต่เราจะมองเขาว่าเราจะรักหรือเมตตาเขาอย่างเท่าเทียมกัน

การตัดสินคนอื่นนั้นล้วนเป็น “มายา” หรือ “มนตรา” อันเป็นภาพลวงและไม่มีจริง แต่ “เมตตา” หรือความรักเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาความไม่เข้าใจในผู้คนทั้งหลายได้ดีที่สุด

เพราะความเมตตาหรือความรักที่แท้จริงนั้นไม่เลือกปฏิบัติ และมีให้กับทุกสิ่งทุกอย่างโดยเท่าเทียมกันเสมอ