สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

ในบรรดาพระนางพญาด้วยกัน พิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ พิมพ์เข่าโค้ง ซึ่งเรียกจากพุทธสรีระของพระเพลา และพระชานุที่มีลักษณะโค้งเล็กน้อย เป็นศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก

                                                       

พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ หากจะแบ่งตามขนาดจะเรียกว่า "นางใหญ่" ได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า พิมพ์อกนูนใหญ่ ส่วน "นางเล็ก" ได้แก่ พิมพ์อกนูนเล็ก พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดาหรือพิมพ์อกแฟบ

สำหรับพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพระนางพญาด้วยกัน ได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง ซึ่งเรียกจากพุทธสรีระของพระเพลา และพระชานุที่มีลักษณะโค้งเล็กน้อย เป็นศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก

พระนางพญา วัดนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง จะมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น จึงค่อนข้างง่ายต่อการสังเกตและจดจำวิธีการพิจารณานั้นนอกจากจะตรวจสอบคุณสมบัติของเนื้อดิน ผิวพระซึ่งถูกกัดกร่อน ความเป็น Plastic Cover และกรรมวิธีการตัดขอบแล้วที่สำคัญที่สุดคือ เอกลักษณ์ของแม่พิมพ์ ซึ่งมีจุดสังเกตคือ โคนพระเกศมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย เส้นกระจังหน้าจะคมชัดและใต้เส้นกระจังหน้าจะเป็นรอยยุบเข้าไปเล็กน้อยเหมือนหน้าผากยุบ ในซอกพระกรรณทั้งสองข้างจะปรากฏเม็ดผดยาวรีคล้ายเมล็ดข้าวสารเรียงลงมาถึงปลายพระกรรณ ปรากฏเส้นเอ็นคอโค้งลงมาจดพระอังสะทำให้ดูประหนึ่งองค์พระใส่สร้อยสังวาลย์ เส้นอังสะใต้ราวนมจะแล่นทะลุเกือบชนลำพระกร ปลายศอกซ้ายขององค์พระจะมีเส้นวิ่งเชื่อมจดปลายพระบาท ปลายพระหัตถ์ซ้ายจะแตกเป็นหางแซงแซว ส่วนด้านหลังของพระนางพญาจะปรากฏรอยเหี่ยวย่นเป็นเส้นพาดต่อๆ กันแต่ไม่ใช่รอยนิ้วมือ

พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระเครื่องพุทธลักษณะศิลปะสุโขทัย พิมพ์มารวิชัย พระหัตถ์ขวาจะพาดที่หัวเข่า พระหัตถ์ซ้ายจะวางตรงหน้าตัก หน้าตักหรือส่วนขาที่วางซ้อนจะมีลักษณะโค้งเล็กน้อย คล้ายเรือสำเภา วงการพระจึงขนานนามว่า "พิมพ์เข่าโค้ง" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงนำพระนางพญา จากจังหวัดพิษณุโลกมาบรรจุกรุไว้ที่กรุงเทพมหานคร มีการพบพระนางพญาในกรุวังหน้าและกรุวัดสังกัจจายน์ จะมีการลงรักปิดทองงดงาม ส่วนพระนางพญาพิษณุโลกพบที่วัดอินทร์ฯ จะมีสนิมเหล็กเคลือบอยู่ สาเหตุก็เพราะพระถูกบรรจุในบาตรภายในพระเจดีย์ การตัดขอบทั้ง 3 ด้าน จะตัดค่อนข้างชิดกับองค์พระท่าน จนส่วนใหญ่จะตัดปลายหูขององค์พระและหัวเข่าขององค์พระขาดหายไปบ้าง เนื้อที่บริเวณปีกด้านข้างขององค์พระจะมีน้อยมาก เฉพาะพระพักตร์ขององค์พระท่านส่วนใหญ่จะเป็นพระที่มีศิลปะเกลี้ยงๆ ไม่มีหน้าตาชัดนัก ลักษณะของตา จมูก และปากของพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง จะมีแผ่วบางเท่านั้น ไม่ชัดเจนเหมือนพระนางพญา พิมพ์เข่าตรง อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาถึงศิลปะบนพระพักตร์ของพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ในทุกพิมพ์ ถึงจะมีตา จมูก และปาก แต่ศิลปะของพระนางพญาจะเป็นลักษณะให้เห็นรางๆ หรือนูนขึ้นมาบ้างเท่านั้น มิได้เป็นเส้นชัดเจนเหมือนพระนางเสน่ห์จันทร์ หรือพระในสกุลขุนแผน

นอกจากนี้ สีที่เกิดจากการเผาพระนางพญามีหลายสี คือ พระนางพญาสีดำ เป็นพระนางพญาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เหมือนพระเผาไม่สุก เพราะสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่รอบนอกของเตาเผา ทำให้ความร้อนที่ได้รับไม่มากพอ ประกอบกับเขม่าควันไฟจะจับผิวพระแน่นเป็นสีดำ และเป็นมันคล้ายๆ พระจุ่มรัก ขนาดขององค์พระที่มีขนาดใหญ่จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเป็นพระนางพญาสีดำแท้ไม่ใช่เป็นพระแต่งจุ่มสีให้เป็นสีดำหรือเป็นพระปลอมขึ้น

พระนางพญาสีมอย เป็นพระนางพญาที่เผาไม่สุกดีนัก เป็นสีเทา สีเทาอมแดงบ้าง หรือบางองค์เป็นสีแดงอมเทาครึ่งหนึ่งเป็นสีดำครึ่งหนึ่ง กลายเป็นพระสองสีดูไม่ค่อยสวยนัก เราเรียกว่าสีผ่าน ขนาดขององค์พระจะเล็กกว่าพระนางพญาสีดำ แต่จะมีขนาดเขื่องกว่าพระนางพญาสีแดง

​​​​​​​ ​​​​​​​

พระนางพญาสีแดง เป็นพระนางพญาที่เผาสุกพอดี มีสีแดงและค่อนข้างแดง มีขนาดเล็กกว่าพระนางพญาสีดำและสีมอยเล็กน้อย องค์ที่ผ่านการใช้มาและมีเหงื่อ

นอกจากนี้ยังมีปรากฏเป็นสีเขียวคาบเหลือง และสีเขียวอีกด้วย โดยเฉพาะพระนางพญาสีเขียว จะเป็นพระที่ได้รับความร้อนสูงสุด องค์พระจะมีขนาดเล็กลงกว่าพระนางพญาสีอื่นๆ แต่ตำหนิแม่พิมพ์จะเหมือนกันทุกประการครับผม