โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีฯ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริแก่สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบการฟื้นฟูเช่น เดียวกับการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อาทิ การปลูกป่า, การสร้างฝายชะลอน้ำ, การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน , การปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรม , การปลูกพืชสร้างแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้าง เพื่อลดปัญหาช้างป่าบุกกินพืชผลผลิตของเกษตรกรวันนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้สร้างความเติบโตงอกงามให้กับต้นไม้ใหญ่น้อย และสรรพชีวิตมากมายในผืนป่ากุยบุรี อันนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนแผ่นดิน และสร้างความสมดุลให้คนกับป่าสามารถดำรงอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน. โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ อันเป็นโครงการที่สืบเนื่องมากจากเหตุการณ์พายุโซนร้อน ซีด้า พัดเข้าสู่อ่าวไทยเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2540 ก่อให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในอำเภอเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจสภาพพื้นที่ ประกอบกับทรงศึกษาแผนที่จังหวัดชุมพระ ทรงพบว่าหนองน้ำธรรมชาติในเขตตำบลบางน้ำลึกที่เรียกว่า หนองใหญ่ มีความเหมาะสมในการทำโครงการแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่โดยในฤดูน้ำหลาก แก้มลิงหนองใหญ่จะทำหน้าที่กักเก็บน้ำส่วนเกินจากเส้นทางระบายน้ำหลัก เพื่อไม่ให้กระแสน้ำไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่ของราษฎร ก่อนจะปล่อยปริมาณน้ำก้อนนี้ผ่านประตูระบายน้ำลงสู่ทะเลในช่วงเวลาที่เหมาะสม และเตรียมรับน้ำก้อนใหม่ต่อไปเป็นวงจร อันเปรียบเสมือนพฤติกรรมการกินกล้วยของลิง ซึ่งมักจะเก็บกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้ม จากนั้นจึงค่อยๆนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง ด้วยความสามารถในการกักเก็บน้ำประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ นอกจากจะแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้แล้ว แก้มลิงหนองใหญ่ยังเป็นโครงการพระราชดำริที่สร้างแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร รวมทั้งช่วยผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง อันนำมาสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสร้างความสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่โดยทั่วกัน. รางวัลเหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยในปัญหาสุขภาพอนามัยของราษฎรไทยทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ จะทรงให้มีคณะแพทย์ติดตามร่วมขบวน เพื่อตรวจรักษาราษฎรที่ป่วยไข้ อันเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากมาย อาทิ หน่วยแพทย์พระราชทาน, หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน, โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ และอีกมากมายหลายโครงการซึ่งล้วนแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน พระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พระราชทานให้แก่ราษฎรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มิได้เป็นที่ประจักษ์เฉพาพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น หากแต่นานาชาติต่างชื่นชมในพระราชกรณียกิจของพระองค์ ดั่งเช่น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2535 องค์การอนามัยโลกได้ทูลเกล่าทูลกระหม่อม ถวายเหรียญทองสุขภาพดีถ้วนหน้า อันเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน. แหล่งกำเนิดน้ำที่เขาเสวยกะปิ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และบริเวณโครงการปลูกป่าด้วยน้ำชลประทานจากบ่อพักน้ำตามจุดต่างๆ ซึ่งได้รับน้ำต้นทุนมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริความตอนหนึ่งว่า ในเขตศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย เขาเสวยกะปินับว่าเป็นภูเขาที่ค่อนข้างสูงจึงสมควรพัฒนาให้ทำหน้าที่เป็น “ แหล่งกำเนิดน้ำ” ด้วยระดับความสูงที่เหมาะสมทำให้สามารถดึงดูดลมที่พัดผ่านมาให้กลั่นตัวเป็นฝนตกลงบริเวณเขา ซึ่งเท่า กับเป็นการเติมปริมาณน้ำลงในอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาเสวยกะปิได้ จากพระวิสัย ทัศน์และสายพระเนตรที่ยาวไกล ทำให้วันนี้อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดมีน้ำเพียงพอที่จะส่งขึ้นไปยังบ่อพักน้ำตามจุดต่างๆ และจากนั้นก็ค่อยๆ ปล่อยน้ำให้ไหลซึมลงมาเพื่อสร้างป่าเปียกที่เอื้อต่อการเติบโตของไม้หลากหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันไฟป่าได้อีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้สร้างความร่มเย็นให้แก่สรรพชีวิตได้อย่างยั่งยืน. การพัฒนาลุ่มน้ำคลองบ้านอำเภอ ย้อนกลับไปในปี 2526 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองบ้านอำเภอ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีกครั้ง หลังจากที่ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 9 แห่งตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของคลองบ้านอำเภอ ตั้งแต่ปี 2525 เพื่อจัดหาน้ำให้กับราษฎรในเขตลุ่มน้ำคลองบ้านอำเภอประมาณ 13,000 ไร่ มีน้ำใช้สำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างพอเพียง จากการเสด็จพระราชดำเนินในปี 2526 นี้ พระองค์ได้ประทับทอดพระเนตรพื้นที่ส่งน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำวัดญาณสังวราราม และโครงการอ่างเก็บน้ำเขาชีโอน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำลำดับที่ 3 และ 4 จากจำนวน 9 แห่ง ที่เอื้อประโยชน์ในการกสิกรรมของราษฎรในพื้นที่ และสร้างประโยชน์ให้กับกิจกรรมทางศาสนาส่งผลถึงความร่วมมือในลักษณะ 3 ประสาน หรือที่เรียกว่า “ บวร” ได้อย่างบริบูรณ์. ความสามัคคี เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ว่าการอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดปัตตานี ในการนี้พระองค์ได้ พระราชทานพระบรมราโชวาท มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ ...พิธีมอบธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน เป็นโอกาสดีที่ทุกคนได้มาพบปะกัน ทั้งนี้รวมถึงลูกเสือชาวบ้านรุ่นก่อนๆ ด้วย ซึ่งเป็นการดีสำหรับกิจการลูกเสือชาวบ้าน และเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างบุคคลในชาติ การสร้างความสามัคคีนั้น จำเป็นต้องมาพบปะทำความรูจักกันเสียก่อน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน นอกจากนั้นการได้มาฝึกอบรมร่วมกันก็จะทำให้มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนจะทำให้เห็นว่า ทุกคนจะอยู่ได้ก็ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ราษฎรในจังหวัดปัตตานี ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในทางภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกันและสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสามัคคี ...” สายธารหล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านกูแบอีแก ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อทอดพระเนตรบริเวณที่ทำกินของราษฎร และมีกระแสพระราชดำรัสให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำของเขื่อนคลองโต๊ะแดง และขุดคลองส่งน้ำจากฝายทดน้ำดังกล่าวเลียบขอบพรุโต๊ะแดงสำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรกว่า 3,000 ไร่ ในเขตตำบลปูดยะทางฝั่งขวาของคลองตลอดสาย ส่วนทางฝั่งซ้ายให้คงสภาพเป็นพรุไว้ก่อน นับเป็นพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรที่ยาวไกล ที่สร้างความสุขและความสมบูรณ์ให้แก่ราษฎรในจังหวัดนราธิวาสได้มีแหล่งทำกินที่ยั่งยืน หลังจากวันนั้นสายธารอันก่อเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ได้ไหลรินสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนแผ่นดิน และสร้างความงอกงามให้พืชพรรณมากมาย พร้อมกับสร้างความสุขให้แก่ราษฎรในตำบลปูโยะสืบไป.