เมื่อวันที่ 29 ส.ค.66 เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า ต้อนรับ #ซูเปอร์บลูมูน คืนวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.)  ด้วยภาพถ่ายส่งตรงจาก #ดวงจันทร์ เป็นภาพของพื้นผิวบริเวณขั้วใต้จาก “รถสำรวจปรัชญาน” รถสำรวจน้องใหม่ล่าสุดบนดวงจันทร์ที่เริ่มทำงานแล้ว พร้อมอัพเดทภารกิจ “จันทรยาน-3” ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียครั้งนี้กันสักเล็กน้อย !

ความสำเร็จในการลงจอดของ #ยานวิกรม (Vikram) ในภารกิจจันทรยาน-3 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นหลักหมุดสำคัญในประวัติศาสตร์วงการอวกาศอินเดีย เมื่ออินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้ และเป็นชาติแรกที่มียานลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แต่ความสำเร็จนี้ยังเป็นแค่เพียงก้าวแรกของเรื่องราวมากมายต่อจากนี้

หลังจากยานวิกรมลงจอดบนพื้นที่ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ต่อมาก็ได้ปล่อย #รถสำรวจปรัชญาน (Pragyan) ลงสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ ปรัชญานใช้กล้องถ่ายภาพหลายตัวบันทึกภาพและวิดีโอของสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ลงจอด และเริ่มเก็บข้อมูลตามแผนภารกิจ ซึ่งยานวิกรมและรถสำรวจปรัชญานจะมีช่วงเวลาปฏิบัติงานราว 2 สัปดาห์

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก ISRO (องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย) ได้เผยแพร่วิดีโอแสดงรถสำรวจปรัชญานที่เคลื่อนอยู่บริเวณพื้นที่ลงจอดที่เรียกว่า “จุดศิวะศักติ” (Shiv Shakti Point) รวมทั้งรายงานว่ายานวิกรมและรถสำรวจปรัชญานได้เริ่มการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว ซึ่งอุปกรณ์ทุกตัวใช้งานได้ตามปกติ

ต่อมาวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 ISRO ได้เผยแพร่กราฟแสดงข้อมูลอุณหภูมิของดินดวงจันทร์ที่ผันแปรตามระดับความลึกจากผิวดิน นับเป็น “โปรไฟล์ข้อมูลอุณหภูมิดินแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์” ครั้งแรก ซึ่งเป็นผลการทดลองจากอุปกรณ์ ChaSTE (Chandra’s Surface Thermophysical Experiment) ที่ศึกษาคุณสมบัติทางความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์ อุปกรณ์ดังกล่าวมีตัววัดอุณหภูมิ 10 ตัว ใช้วัดอุณหภูมิของดินบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะทางความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์

นอกจากนี้ รถสำรวจปรัชญานได้เคลื่อนตัวข้ามหลุมอุกกาบาตกว้างราว 4 เมตรไปแล้วด้วย ซึ่งตอนนี้ปรัชญานปลอดภัยดีและจะออกเดินทางสำรวจต่อไป แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบดีว่าพื้นที่แถบนี้เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและลงจอดได้ยาก แต่เนื่องจากประเมินแล้วว่าเป็นบริเวณที่มีน้ำแข็งปริมาณมาก ควรค่าแก่การศึกษาวิจัย รถปรัชญานจึงได้มาโลดแล่นอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ในวันนี้

แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : https://www.space.com/chandrayaan-3-moon-temperature...

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ