หลังพบผู้เข้าสอบทำข้อสอบได้ลดลง วันที่ 1 พ.ย.59 ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ได้รายงานผลการวิเคราะห์ข้อสอบ ที่ใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งเบื้องต้น ได้มีการวิเคราะห์ข้อสอบจากจำนวนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) รวม 61 แห่งที่เปิดสอบในครั้งนี้ ผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 126,328 คน สอบได้ 11,333 คน คิดเป็นผู้สอบได้ 8.97% นั้น ข้อสอบที่ใช้สอบสามารถจำแนกคุณภาพผู้เข้าสอบได้หรือไม่ มีความยากง่ายของข้อสอบเป็นอย่างไร เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการออกข้อสอบคัดเลือกครู รวมถึงให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการผลิตบัณฑิตครูต่อไป รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ข้อสอบที่ใช้ในการสอบครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 นั้น 56 กศจ./สศศ.ได้จ้าง 11 มหาวิทยาลัยออกข้อสอบ จำแนกเป็น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ใช้สอบใน 43 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 93,567 คน สอบได้ 6,935 คน คิดเป็น 7.14%  มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สุราษฎร์ธานี ใช้สอบใน 3 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 3,950 คน สอบได้ 1.048 คน คิดเป็น 26.53%  มรภ.เชียงราย ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 1,668 คน สอบได้ 160 คน คิดเป็น 9.59%  มรภ.เพชรบูรณ์ ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 1,574 คน สอบได้ 49 คน คิดเป็น 3.11%  มรภ.เลย ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 3,240 คน สอบได้ 164 คน คิดเป็น 5.06%  มรภ.บุรีรัมย์ ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 6,868 คน สอบได้ 230 คน คิดเป็น 3.35%  มรภ.ราชนครินทร์ ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 1,649 คน สอบได้ 110 คน คิดเป็น 6.67%  มรภ.สกลนคร ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 674 คน สอบได้ 59 คน คิดเป็น 8.75%  มหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้สอบใน 2 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 1,907 คน สอบได้ 177 คน คิดเป็น 9.28%  มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 143  คน สอบได้ 3 คน คิดเป็น 2.10% มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้สอบใน 1 แห่ง มีผู้เข้าสอบ 1,480 คน สอบได้ 26 คน คิดเป็น 1.76%  และเป็นข้อสอบที่ กศจ. 5 จังหวัดออกเอง ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา หนองคาย บึงกาฬ และศรีสะเกษ  มีผู้เข้าสอบ  9,608 คน สอบได้ 2,372 คน คิดเป็น 24.69% "อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสาเหตุที่มีผู้ทำข้อสอบผ่านได้น้อย ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามาจากผู้ข้อสอบ ตัวข้อสอบ หรือการออกข้อสอบ ดังนั้น สพฐ.จะมอบให้สำนักทดสอบทางการศึกษา และ สพฐ.ร่วมกันวิเคราะห์ข้อสอบเชิงลึก โดยขอข้อมูลไปยังผู้ออกข้อสอบ ให้ตอบคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างข้อสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการหรือไม่ สัดส่วนความยากง่ายของข้อสอบมีความเหมาะสมหรือไม่ และภูมิหลังของผู้เข้าสอบ ทั้งอายุ เพศ ระดับผลการเรียน และมหาวิทยาลัยที่จบออกมาว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร โดยจะวิเคราะห์ให้เร็วที่สุดเพื่อรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไม นักศึกษาครูทำข้อสอบได้ลดลง"ดร.พะโยม กล่าว สำหรับ อัตราตำแหน่งสาขาวิชาเอกที่ไม่มีใครสอบผ่านเกณฑ์เพื่อบรรจุแต่งตั้ง ได้แก่  กลุ่มวิชาเกาหลี เวียดนาม อาหรับ ดนตรีนาฏศิลป์ ดนตรีสากลดุริยางค์ ออกแบบนิเทศศิลป์ วิจยทางการศึกษา และกายภาพบำบัด ซึ่งมีทั้งหมด 8 กลุ่มวิชาที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก