หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566  ส่งผลให้มีการยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(สำนักงาน กศน.) เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับนั้น

นายวรวิทย์ สุระโคตร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายและวินัยกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) กล่าวบรรยายตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงาน สกร.จังหวัดมุกดาหาร ประจำปีงบประมาณ 2566 หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้”ว่า  พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ มาตรา 19 ให้มีสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ทำหน้าที่เป็น หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด เพื่อกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน อำนวยความสะดวก และแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยี ที่จำเป็นในการส่งเสริมการเรียนรู้ การบริหารงาน และการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ตลอดทั้งการจัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ บริบทของท้องถิ่นและแผนการศึกษาแห่งชาติ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิบดี มอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดมีหน้าที่และ อำนาจในการประสาน สนับสนุน และร่วมมือ หรือมอบหมายให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมหรือ เป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ ในการจัดทำแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัดตามวรรคหนึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นหรือ ข้อเสนอแนะของภาคีเครือข่ายประกอบด้วย และเมื่อจัดทำร่างแผนการส่งเสริมการเรียนรู้แล้วเสร็จ ให้เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบและใช้บังคับต่อไป ซึ่งเป็นที่น่าใจหายที่ สำนักงาน สกร.จังหวัด หรือ กศน.จังหวัดเดิม กลับเป็นเพียงหน่วยงานธุรการ ทั้งที่ตอนเป็น กศน.จังหวัด มีอำนาจหน้าที่ กำกับ ติดตาม กศน.อำเภอ กศน.ตำบล ทำให้นโยบายสู่การปฏิบัติขาดความต่อเนื่อง

ขณะที่ มาตรา 20  ระบุว่าในการปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับอำเภอ ให้มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอมีสถานะเป็นสถานศึกษา เพื่อจัดการเรียนรู้ และกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน  อำนวยความสะดวก และแนะนำ ในการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลและศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ทั้งในด้านวิชาการ และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการส่งเสริมการเรียนรู้ของจังหวัด รวมทั้งประสานความร่วมมือและแนะนำการจัดการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายในพื้นที่และทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของตำบลอันเป็นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอหรือตำบลใกล้เคียงตามที่อธิบดีกำหนด และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีมอบหมาย ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้น ณ ที่ใดที่เห็นสมควรหรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดก็ได้ โดยให้นำความในมาตรา 19 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอด้วยโดยอนุโลม ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ สกร.อำเภอ เป็นสถานศึกษา และ มาตรา 21 บอกว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ กรมอาจจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล สำหรับพื้นที่ของตำบลหนึ่งหรือหลายตำบลตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ก็ได้ ในกรณีที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการปฏิบัติงาน กรมจะประกาศจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่นั้นก็ได้ ซึ่งก็หมายความว่า ให้ สกร.ตำบล เป็นหน่วยขับเคลื่อนงาน สกร.เป็นหลัก ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ จะเป็นห้องเรียนอยู่ใน สกร.ตำบล โดยตำบลหนึ่งมีศูนย์การเรียนรู้มากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้อยู่ที่บริบทของพื้นที่

“ขอชื่นชมนายสมเจตน์ สวาศรี ผู้อำนวยการสกร.จังหวัดมุกดาหาร ที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งครูและบุคลากรจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรและการผลิตสื่อในยุคดิจิทัลสู่การปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายความสำเร็จในการขับเคลื่อนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ในอนาคต”นายวรวิทย์ กล่าว