คอลัมน์ บทความพิเศษ คำอธิบายว่าด้วย “สถาบันพระมหากษัตริย์” จาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หมายเหตุ บทความพิเศษนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนจากเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่เคยจัดตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันคึกฤกธิ์
สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยไร้กษัตริย์ ตั้งแต่โบราณกาลลงมา ไม่ว่าคนไทยจะไปตั้งรกรากสร้างบ้านสร้างเมืองลงที่ไหน บ้านเมืองของคนไทยนั้นก็จะต้องมีกษัตริย์ขึ้น ในยามที่บ้านเมืองมียุคเข็ญ องค์พระมหากษัตริย์นั้นว่างลง ก็จะต้องมีคนคิดกอบกู้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ด้วยการปราบดาภิเษกตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้น ให้สืบสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป มิให้ขาดได้ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะเหตุว่าคนไทยแลเห็นความจำเป็นแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชีวิตของสังคม และต่อการสืบทอดวัฒนธรรมไทย ความจำเป็นนี้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ทำให้สังคมนั้นมีวิญญาณมีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างจากสังคมอื่น เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น มีลักษณะแตกต่างกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมอื่นๆอยู่มาก ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีอยู่มากถึงขนาดที่จะให้ชนชาติอื่นต้องยอมรับ ดังเช่นในประเทศอินเดียซึ่งในสมัยโบราณเคยแบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ จำนวนมากมายนั้น ศาสนาฮินดูเคยรับรองมาแต่ดั้งเดิมว่ามีวงศ์กษัตริย์อยู่เพียงสองวงศ์เท่านั้น คืออาทิตยวงศ์และจันทรวงศ์ กษัตริย์ทั้งประเทศซึ่งนับถือศาสนาฮินดูนั้นไม่ว่าจะครองรัฐใดก็อยู่ในวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่งในสองวงศ์นี้เท่านั้น คือ หากไม่อยู่ในอาทิตยวงศ์ ก็อยู่ในจันทรวงศ์ แต่ต่อมามีคนเชื้อไทยเผ่าหนึ่งคือ ไทยอาหม ได้อพยพจากเหนือเข้าไปอยู่ในรัฐอัสสัมในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ และได้สร้างบ้านเมืองมีกษัตริย์ของตนเองขึ้น คนไทยเหล่านี้ได้ยอมรับศาสนาและวัฒนธรรมฮินดู แต่ไม่ยอมรับวงศ์กษัตริย์ของฮินดู คงยืนยันที่จะให้มีกษัตริย์ไทยของตนเอง จนมีผลทำให้ศาสนาฮินดูต้องยอมรับวงศ์กษัตริย์ของไทยโดยเฉพาะเพิ่มเติมขึ้นมาจากสองวงศ์กษัตริย์ซึ่งเคยมีมาแต่ดั้งเดิม วงศ์กษัตริย์ทั้งสามวงศ์ในอินเดียยังคงอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 และ ที่ 19 ปรากฏว่าดินแดนซึ่งรวมกันเป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มีราชอาณาจักรอยู่หลายราชอาณาจักร ได้แก่ราชอาณาจักรลพบุรี ราชอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองหริภุญชัย หรือเมืองลำพูนในปัจจุบัน ราชอาณาจักรสุโขทัย ราชอาณาจักรสุพรรณบุรีในภาคกลาง และราชอาณาจักรนครศรีธรรมราชในภาคใต้ ราชอาณาจักรล้านนาไทยในภาคเหนือนั้นได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ในสมัยที่พ่อขุนมังรายได้แผ่พระราชอำนาจไปทั่วล้านนาไทย ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ย้ายราชธานีลงมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในสมัยพระมหาธรรมราชาลือไทย ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พระเจ้าอยู่ทองได้สร้างราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งภายหลังไม่นานกษัตริย์จากราชวงศ์สุพรรษบุรีได้เข้ามาครอง ส่วนราชอาณาจักรในภาคใต้นั้น ปรากฏตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัย แต่ตามความจริงน่าจะคงปกครองตนเองมาโดยตลอด เพราะระยะทางระหว่างสุโขทัยและนครศรีธรรมราชนั้นห่างไกลกันมาก มีราชอาณาจักรอยุธยากั้นกลางอยู่ นครศรีธรรมราชอาจยอมเป็นเมืองขึ้นสุโขทัย เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง หากอยุธยาแผ่อำนาจลงมาได้ก็คงจะต้องเกรงใจสุโขทัยซึ่งอยู่ทางเหนือ เกิดศึกสงครามขึ้นระหว่างอยุธยากับนครศรีธรรมราช อยุธยาก็จะต้องระวังหลังคือสุโขทัยอยู่ตลอดเวลา เป็นแรงรั้งไว้ไม่ให้อยุธยาแผ่อำนาจพุ่งลงทางใต้โดยสะดวกในสมัยแรกเริ่ม ราชอาณาจักรไทยเหล่านี้มีการติดต่อกันตลอดมาในฐานะเป็นรัฐเอกราชเสมอกัน และมีความเคารพซึ่งกันและกัน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกพระมหากษัตริย์ไทยราชอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้เป็นศัพท์เฉพาะไม่ปะปนกัน คือ พระมหากษัตริย์เชียงใหม่เรียกว่า มหาราช พระมหากษัตริย์สุโขทัยเรียกว่า มหาธรรมราชา และพระมหากษัตริย์นครศรีธรรมราชเรียกว่า ศรีธรรมาโศกราช ราชอาณาจักรล้านนาไทยนั้น ต่อมาได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจพม่า ทำให้ขาดความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยในภาคอื่นๆลงไป อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายการแบ่งเขตการปกครองของไทย ซึ่งประกาศใช้ในสมัยอยุธยานั้นยังยกย่องราชธานีในภาคเหนือและภาคใต้อยู่ คือ ยกให้เป็นหัวเมืองเอกเฉพาะแต่เมืองพิษณุโลก และเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น และยอมให้มีหัวเมืองตรีเป็นเมืองขึ้น หัวเมืองเอกทั้งสองนี้ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ส่วนหัวเมืองอื่นๆ นั้นให้มีฐานะเพียงหัวเมืองโทและหัวเมืองตรี ขึ้นต่อหัวเมืองเอกทั้งสอง สุดแต่จะตั้งอยู่ใกล้เมืองใด หัวเมืองโทหรือตรีที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาคือเมืองที่ใกล้เคียงเมืองหลวง ภายในเขตที่กำหนดไว้ว่าเป็นวงราชธานีเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าอยุธยาจะได้แผ่อำนาจปกครองครอบคลุมไปถึงภาคเหนือและภาคใต้แล้ว ลักษณะการบริหารประเทศก็คงยังอยู่ในรูปราชอาณาจักรทั้งสามที่เคยมีมาแต่ก่อน สถาบันพระมหากษัตริย์ในทรรศนะของคนไทย ศัพท์ในภาษาไทยที่ใช้เรียกองค์พระมหากษัตริย์นั้นมีอยู่หลายคำแต่ละคำน่าจะชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีทรรศนะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างไร และเห็นว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่อย่างไรต่อประเทศ และสังคมได้บ้างไม่มากก็น้อย พระเจ้าอยู่หัว ศัพท์ที่หนึ่งที่คนไทยเรียกพระมหากษัตริย์ก็คือ พระเจ้าอยู่หัว คำนี้ในสมัยอยุธยาใช้ว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัว แต่จะใช้อย่างไรก็ตาม ศัพท์นี้มีความหมายในทางที่องค์พระมหากษัตริย์เป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นที่เคารพสูงสุดเสมือนกับว่าประทับอยู่บนหัวของทุกคน พระเจ้าแผ่นดิน ศัพท์ที่สองได้แก่คำว่า พระเจ้าแผ่นดิน คำนี้หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศพระมหากษัตริย์พระราชทานสิทธิให้ราษฎรเข้าทำมาหากินบนที่ดินของพระองค์ และสิทธิครอบครองโดยพระบรมราชานุญาตนั้นซื้อขายหรือโอนให้แก่กันได้ โฉนดอันเป็นเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินในสมัยก่อนก็มีข้อความตามนัยนี้ แม้ในปัจจุบันเมื่อทางราชการต้องการบังคับซื้อที่ดินจากเอกชนไปใช้การสาธารณประโยชน์ในราคาที่ทางราชการเป็นผู้กำหนดก็ยังเรียกการบังคับซื้อว่า “เวนคืน” ซึ่งก็ยังผูกพันอยู่กับความเป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ เมื่อทางราชการของพระองค์ต้องการเอาที่ดินใดไปใช้จึงเรียกว่าเวนคืนสู่เจ้าของดั้งเดิม ถ้าที่ดินมิได้เป็นของพระมหากษัตริย์แต่ดั้งเดิมแล้ว คำว่า “คืน” ในศัพท์ว่าเวนคืนก็ไร้ความหมาย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ถือกันต่อไปว่า พระเจ้าแผ่นดินจะต้องมีพระราชภาระในความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินด้วย หากเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ทำการกสิกรรมไม่ได้ผลบริบูรณ์ ก็เป็นพระราชภาระที่จะต้องคอยป้องกันแก้ไขเพื่อให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ความจริงหน้าที่ในการรักษาและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินเพื่อผลในทางเกษตรนั้น เป็นของพระเจ้าแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ในอินเดียในยุคพระเวทนั้น กษัตริย์อริยะได้ทำหน้าที่ด้วยการกระทำยัญ คือบูชาสังเวยเทวดาเพื่อให้ช่วยรักษาส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแผ่นดิน ในเรื่องนี้กรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูไว้มาก พระมหากษัตริย์จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านนี้ด้วยพระราชพิธีต่างๆ ที่มีความมุ่งหมายที่จะรักษาและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ในสมัยโบราณนั้นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติยังค้นไม่พบ และความรู้ทางเทคโนโลยียังมีไม่มาก มนุษย์จึงต้องอาศัยไสยศาสตร์ พระราชพิธีต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยานั้นมีทุกเดือนในหนึ่งปี ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้แผ่นดินมีความสมบูรณ์ และเพื่อความงอกเงยของพืชพรรณธัญญาหาร เช่น พระราชพิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีพรุณศาสตร์หรือขอฝน พระราชพิธีไล่น้ำหรือไล่เรือ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้น้ำลด ทำให้ชาวนาเกี่ยวข้าวได้ พระราชพิธีตรียัมปวาย และอื่นๆ อีกมาก พระราชพิธีเหล่านี้คงมีตลอดมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น พระราชพิธีเหล่านี้ก็ค่อยๆ หมดไป จะยังคงเหลืออยู่บางอย่าง ก็เพื่อคุณค่าในทางสังคมเท่านั้น นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินยังมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาฝูงสัตว์ที่เป็นประโยชน์ในการเกษตร และในทางอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน เช่น ฝูงควายป่าแถวเมืองกาญจนบุรี ฝูงโคแถวเมืองโคราช และโขลงช้างป่า ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ วัวและควายป่านั้นจับมาฝึกใช้งาน และจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อทำไร่ไถนาในยามที่ขาดแคลน ส่วนช้างในสมัยนั้นเป็นสัตว์มีประโยชน์มากทางสงครามและเศรษฐกิจ เพราะใช้งานที่ต้องใช้แรงได้หลายอย่าง ฝูงสัตว์เหล่านี้จึงมีกรมกองราชการคอยอนุรักษ์ดูแล และต้องกราบบังคมทูลถวายรายงานถึงจำนวนสัตว์ในโขลง และในฝูงต่างๆให้ทรงทราบอยู่เป็นนิจ พระธรรมราชา ศัพท์ต่อไปที่คนไทยใช้เรียกพระมหากษัตริย์ก็คือ พระธรรมราชา ถึงแม้ว่าศัพท์นี้จะมิใช่ศัพท์ที่แพร่หลายติดปากคนทั่วไปนัก แต่ก็เป็นศัพท์ที่ได้พบเห็นอยู่ในหนังสือเก่าๆ หรืออยู่ในสร้อยพระนามอยู่เสมอ ศัพท์นี้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้รักษาธรรมและปฏิบัติธรรมด้วยการอยู่ในศีลธรรมให้เห็นประจักษ์เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวงในฐานะเป็นองค์อุปถัมภกแห่งศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธ ยิ่งกว่านั้นยังทรงเป็นต้นเค้าแห่งความยุติธรรม คือเป็นอำนาจตระลาการอันสูงสุดในการตัดสินคดีความ ทรงเป็นผู้ชี้ขาดในปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้น กฎหมายไทยที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ได้มาจากขอบจักรวาล ผู้ใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้นั้น เรียกว่า บทพระอัยการ แต่บทอัยการนั้นเป็นกฎหมายโบราณหนักหนาได้ลอกคัดกันต่อๆ มาจนบางแห่งสับสนไม่แน่ชัด ไม่ตรงกันหรือไม่รับกัน มีศัพท์และข้อความที่เข้าใจยาก ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแก่บทพระอัยการ ลูกขุนตระลาการมิรู้ว่าจะชี้ขาดข้อกฎหมายอย่างไรถูก ก็จะได้นำบทพระอัยการที่เกิดปัญหานั้นขึ้นถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงชี้ขาด คำชี้ขาดของพระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า พระราชบัญญัติ และถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ในฐานะที่ทรงเป็นธรรมราชานี้ พระมหากษัตริย์ต้องทรงอนุรักษ์และอุปถัมภ์ไว้ซึ่งศิลปะวิชาการทั้งปวงที่มีอยู่ในพระราชอาณาเขต ทุกอย่างเรียกได้ว่าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระมหากษัตริย์ต้องทรงอนุรักษ์เกื้อกูลให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป พระมหากษัตริย์ อีกศัพท์หนึ่งที่ใช้เรียกพระมหากษัตริย์กันอย่างแพร่หลายในกฎหมายและเอกสารต่างๆ ก็คือคำว่า พระมหากษัตริย์ คำว่า “กษัตริย์” ในภาษาสันสกฤตนั้นตรงกับคำว่า “ขัตติยะ” ในภาษาบาลีแปลว่า นักรบ เมื่อเติมคำว่า “มหา” เข้าไปก็แปลว่านักรบผู้ยิ่งใหญ่ คือจอมทัพในยามที่บ้านเมืองมีศึกสงครามและมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำทางทหารที่สูงสุด ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจนี้อย่างสมบูรณ์ ทรงรักษาเอกราชของชาติไทยไว้ได้ตลอดมา เจ้าชีวิต อีกศัพท์หนึ่งที่ราษฎรใช้เรียกพระมหากษัตริย์ก็คือ เจ้าชีวิต หรือ พระเจ้าชีวิต ศัพท์นี้ในปัจจุบันก็ยังมีคนใช้อยู่ในชนบทห่างไกล มีความหมายว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิตคนได้ ไม่มีบุคคลใดหรือองค์กรใดในประเทศที่มีอำนาจนี้ ในสมัยหนึ่งการประหารชีวิตคนต้องทำโดยพระบรมราชโองการ ในกรณีพิเศษบางประการอาจมีบุคคลอื่นได้รับอาญาสิทธิ์จากพระมหากษัตริย์ให้ประหารชีวิตคนได้ แต่ก็เป็นการชั่วคราวและเฉพาะกิจ เช่น ในยามทัพศึก แต่ก็มิได้พระราชทานอาญาสิทธิ์นี้ให้แก่บุคคลใดตลอดไป ทุกวันนี้การประหารชีวิตกระทำตามคำพิพากษาของศาล แต่ศาลก็พิจารณาความในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ในหลวง ศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายมากและเป็นศัพท์สุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี่ก็คือศัพท์ว่า ในหลวง เพื่อที่จะให้เข้าใจศัพท์นี้ได้ชัด จะต้องขอนำศัพท์นี้ไปเทียบกับศัพท์ว่า “ในกรม” ในสมัยหนึ่งระบอบราชการของไทยได้ตั้งกรมกองซึ่งคุมคนขึ้น และให้เจ้านายในพระราชวังที่ดำรงพระยศสูงเข้าคุมราชการในกรมเหล่านั้นแต่ละกรม ในพระสุพรรณบัฏตั้งเจ้านายให้ทรงกรมนั้น ในตอนท้ายจะมีการตั้งเจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี และมีคำสั่งให้บุคคลเหล่านี้ “รับราชการในหลวงและในกรม” ข้อความนี้ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า คำว่าราชการในหลวงนั้น มิได้หมายความถึงราชการของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นราชการส่วนรวมที่ปกครองประเทศทั้งประเทศ ส่วนราชการในกรมนั้นเป็นราชการที่มีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในกรมกอง เป็นเรื่องของลักษณะงานมากกว่าเรื่องตัวบุคคล เจ้านายที่ทรงกรมนั้นเรียกโดยทั่วไปว่า “ในกรม” หรือบางที่ก็ยกย่องเรียกว่า “เสด็จในกรม” เพราะทรงบังคับบัญชาราชการภายในกรมของพระองค์เท่านั้น คำว่า “ในหลวง” จึงหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงบังคับบัญชาราชการของประเทศ ทรงไว้ซึ่งอำนาจบริหารสูงสุด ทรงบริหารราชการด้วยพระองค์เองในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและทรงบังคับบัญชาข้าราชการทั้งปวง ศัพท์ที่ใช้เรียกพระมหากษัตริย์เหล่านี้ เมื่อรวบรวมกันเข้าทุกความหมายแล้วก็แสดงให้เห็นได้ว่าคนไทยมีความเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขามีภาระอย่างไรมีหน้าที่การงานอย่างไร และประชาชนมีความหวังในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร มีความต้องการอย่างไรจากองค์พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้นมีแต่พระมหากรุณาต่อพสกนิกรของพระองค์เหนืออื่นใด และด้วยพระมหากรุณานี้ได้ทรงดัดแปลงแก้ไขสภาพต่างๆ ในบ้านเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกทาง ยังผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีอิสระเสรี ในด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน เพราะได้ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไข และขจัดอุปสรรคทั้งปวง ซึ่งกีดขวางอยู่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ทำให้สถาบันซึ่งเคยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเกรงกลัวนั้น มาตั้งอยู่บนรากฐานแห่งศรัทธา ความรัก และความหวงแหน รากฐานแห่งความรักนั้นมาปรากฏชัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชาชนพร้อมในกันขนานพระนามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ก้าวออกมาอีกในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งที่เอกลักษณ์ดั้งเดิมของสถาบันพระมหากษัตริย์จะยังคงมีอยู่ครบถ้วน แต่ก็ได้บังเกิดความรู้สึกที่ประกอบด้วยความมั่นใจแน่นแฟ้นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันของประชาชน และจะอยู่ควบคู่กับประชาชนตลอดไปจะขาดเสียมิได้ ทั้งนี้เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีด้วยพระอุตสาหคุณ พระวิริยคุณและพระขันติคุณอันหาที่สุดมิได้ เป็นที่ประจักษ์แก่ใจประชาชนทั่วไป ทรงตั้งอยู่ในศีลของพระมหากษัตริย์คือทศพิธราชธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่มีที่บกพร่อง และทรงปฏิบัติธรรมของพระมหากษัตริย์ คือสังคหวัตถุและจักรวรรดิวัตร โดยบริบูรณ์ จนศีลและธรรมเหล่านั้นเป็นที่ประจักษ์ออกมาเป็นตัวตนแน่นอนว่าเป็นศีลที่รักษาได้ เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้จริง มิใช่เป็นแต่เพียงคำสั่งสอนหรือหลักการที่บุคคลยากที่จะปฏิบัติได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ปัจจุบันมิใช่สถาบันที่อยู่เหนือเหตุผลหรือลึกลับอีกต่อไป แต่เป็นสภาบันที่เข้าใจได้พิสูจน์ได้ เพราะเป็นสถาบันที่มีหน้าที่และการงานที่จะต้องทำ และเป็นสถาบันที่ทำงานหนักไม่น้อยกว่าใครในสังคมนี่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชภารกิจโดยมิไดว่างเว้น ไม่มีวันหยุด ดังที่เคยมีพระราชดำรัสกับนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศว่า “การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดได้” แทนที่ราษฎรจะเข้าถึงพระองค์ได้ด้วยการเข้ามาสั่นกระดิ่งตีกลองขอเฝ้าฯ อย่างสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงตัวราษฎรในทุกหมู่บ้านทุกตำบลด้วยความห่วงใยและพระมหากรุณา ทรงขจัดความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ปรากฏให้สิ้นไปโดยที่ราษฎรมิพักต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ทรงชักนำให้ราษฎรตั้งอยู่ในศีลธรรมโดยปฏิบัติพระองค์ให้เป็นตัวอย่าง และทรงสั่งสอนความรู้ตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองให้แก่ราษฎรในทุกโอกาส ทั้งนี้เป็นพระบรมราชกฤษดาภินิหารอันแจ่มแจ้งประจักษ์อยู่ในสยามประเทศนี้ สำเร็จได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระพละอันเป็นมหามหัศจรรย์ สมกับพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” อันเป็นพระปรมาภิไธยที่จะจารึกอยู่ในใจของคนไทยไปชั่วกัลปาวสาน