สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินนั้น ด้วยความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีการจัดสร้างกันมากมายนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าไม่นับ ‘รูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเงิน’ แล้ว พระหลวงพ่อเงินรุ่นไหนค่านิยมสูงที่สุด ทุกคนต้องยอมรับว่า “รุ่นปี 15” นั้น โด่งดังมาก โดยเฉพาะที่ออกวัดบางคลาน จ.พิจิตร “พิมพ์นิยม” ปัจจุบันน่าจะเกินครึ่งล้านไปแล้ว ไม่นับเหรียญจอบ ซึ่งสนนราคาเป็นแสน ทั้งที่อายุองค์พระยังไม่ถึง 50 ปี

พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี 15 จัดสร้างโดย พระครูพิบูลธรรมเวท หรือ หลวงพ่อเปรื่อง อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ชื่อเต็มว่า "วัดหิรัญญาราม" ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ร่วมสมทบทุนสร้างโบสถ์หลังใหม่ และเป็นที่ระลึกงานผูกพัทธสีมาของวัดบางคลาน โดย สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ  และ พระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดสุทัศน์ เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สำหรับฝ่ายฆราวาสมี พลตำรวจเอกสง่า กิตติขจร รมช.ต่างประเทศ เป็นประธานอุปถัมภ์ และ นายเผด็จ จิราภรณ์ ประธานสภา จ.พิจิตร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ สุดท้ายได้ อาจารย์เทพ สาริกบุตร รับเป็นเจ้าพิธี

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ปี 15 พิมพ์คอแอล

การจัดสร้างครั้งนั้นมีทั้ง พระบูชา พระรูปหล่อ เหรียญจอบใหญ่-จอบเล็ก และอีกมากมาย ดังตัวอย่างใบจองในสมัยนั้น (มีตัวอย่างใบจองสมัยนั้นประกอบ)

หลังจากปลุกเสกมวลสารเป็นปฐมฤกษ์ที่วัดสุทัศน์ ก่อนนำไปจัดสร้าง เมื่อแล้วเสร็จยังประกอบพิธีพุทธาภิเษกอีกถึง 2 วาระ วาระที่ 1 ปลุกเสก ณ วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2514 โดยนิมนต์พระคณาจารย์จากทั่วประเทศรวม 127รูป สำหรับ วาระที่ 2  ประกอบพิธีที่ วัดบางคลาน วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2515 โดยมีพระคณาจารย์ร่วมพิธี 96 รูป ซึ่งได้เกิดปรากฏการณ์พระราหูอมพระจันทร์ หรือจันทรุปราคา และเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์อีกหลายอย่าง และอาจเป็นด้วยเป็นการพุทธาภิเษกข้ามปี ทำให้การตอก “โค้ด” ใต้ฐานพระรูปหล่อ จึงมีเลขไทยปั๊มเป็น "๑๔-๑๕" อยู่ในวงกลม หมายถึงการคาบเกี่ยวกันสองปี ซึ่งจะติดเต็มบ้าง ไม่เต็มบ้าง และไม่จำเป็นต้องมีโค้ดทุกองค์ เพราะเป็นการใช้แม่พิมพ์เดียวซึ่งอาจกดหนักกดแผ่วก็เป็นได้ ที่ไม่มีโค้ดก็คือ แม่พิมพ์โค้ดพังนั่นเอง

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ปี 15 พิมพ์คอแอล

“พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน รุ่นปี 15” จะสร้างเหมือน "รูปหล่อโบราณรุ่นแรก พิมพ์นิยม" ทุกประการ เพียงแต่เป็นการใช้เครื่องจักรปั๊ม รายละเอียดจึงคมชัด เนื้อองค์พระมีความตึงแน่นเป็นธรรมชาติ ภายในองค์พระกลวงเพื่อบรรจุเม็ดกริ่ง และปิดก้นด้วยทองเหลือง โบราณจึงเรียก “พระกริ่งรูปเหมือนหลวงพ่อเงิน” องค์พระมีฐานกว้างประมาณ 1.6-1.7 ซ.ม. ความสูงประมาณ 2.4-2.5 ซ.ม. ส่วนทองเหลืองกลมที่อุดก้นฐานจะเรียบเสมอกับฐาน และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.4-4.5 ซ.ม.

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ปี 15 พิมพ์นับแบ็งค์

จัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ (เฉพาะที่สั่งจอง), เนื้ออัลปากา และเนื้อทองเหลือง อย่างละ 1,000 องค์ เท่าที่ทราบพระหลวงพ่อเงินรุ่นนี้จริงๆ แล้วเป็นบล็อกเดียวกันทั้งหมด แต่เมื่อมีการปั๊มเรื่อยๆ อาจเกิดการตันหรือเนื้อเกินต่างๆ จนทำให้เกิดเป็นตำหนิแยกพิมพ์ทรงแยกออได้าเป็น 4 พิมพ์ คือ พิมพ์คอแอล, พิมพ์มือมีจุด, พิมพ์มือเลขแปด และ พิมพ์นับแบงค์ การเช่าบูชาในช่วงนั้น เนื้ออัลปากา องค์ละ 100 บาท และเนื้อทองเหลือง องค์ละ 50 บาท

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ปี 15 พิมพ์มือเลขแปด

โดยพิมพ์ที่นิยมที่สุด คือ "พิมพ์คอแอล" ซึ่งมีทั้งเนื้ออัลปากาและเนื้อทองเหลือง 

- จุดสังเกตหลักตามชื่อพิมพ์ คือ ที่คอด้านขวาของหลวงพ่อจะมีเส้นแตกลากลงมาตั้งฉาก เหมือน “ตัวแอลใหญ่ (L)”

- เนื่องจากเป็นพิมพ์ปั๊ม จึงปรากฏรายละเอียดต่างๆ คมชัด มีเส้นจีวรที่หน้าอก 3 เส้น และเส้นชายจีวรที่ซอกแขนซ้ายรวม 7 เส้น

- ผิวขององค์พระจะตึงแน่น และมีการแต่งรอยตะเข็บข้างด้วยตะไบ รวมทั้งในร่องระหว่างสังฆาฏิกับชายจีวรซ้ายมือก็จะมีรอยแต่งด้วยตะไบในซอก

- มีเส้นขีดตรงหัวตาซ้าย 

- ส่วนในหูจะมีส่วนเกิน (ตัดเกิน) ออกมาจากรูปหู

- ตรงปลายคางมีเส้นเล็กๆ เป็นฝอยๆ เชื่อมกับเนื้อคอ 

- มองเห็นเส้นริ้วจีวรด้านขวาองค์พระสามเส้น และด้านที่พันแขนซ้ายเจ็ดเส้น

- ใต้ฐานหากเป็นเนื้ออัลปากาใช้มือลูบดูจะแอ่นเป็นท้องกระทะเล็กน้อย หากเป็นทองเหลืองจะตึงไม่แอ่น และมีเส้นรอยปั๊มตัดใต้ฐานเป็นวงๆ เรียกกันว่า "วงเดือน"

สำหรับ พิมพ์ด้านหลังในทุกพิมพ์จะเหมือนกัน คือ

- หลังใบหูมีเส้นเรียวคมชัดวิ่งขนานกับริมหู

- สระ "อิ" เหนือคำว่า ‘เงิน’ ที่ปั๊มลงบนสังฆาฏิด้านหลัง มีลักษณะเหมือนหัวลูกศรปลายอยู่ล่าง

- ช่วงรอยต่อระหว่างองค์พระกับฐานเขียงด้านหลัง เมื่อใช้กล้องส่องไล่ดูจะเห็นบางส่วนเป็นรอยเสี้ยนเล็กๆ คล้ายกับรอยครูดของเครื่องปั๊ม เป็นแผงเล็กๆ วิ่งเชื่อมระหว่างก้นองค์พระกับฐานที่ท่านนั่งพอดี เป็น “จุดตาย” อีกประการหนึ่ง

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ปี 15 พิมพ์มือมีจุด

มาดูความต่างของพระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี 15 ระหว่าง พิมพ์มือมีจุด พิมพ์มือเลขแปด และ พิมพ์นับแบงค์ พระทั้ง 3 พิมพ์มีส่วนคล้ายกันมากจากที่บอกว่าเป็นแม่พิมพ์เดียวกัน จึงทำให้การแยกพิมพ์นั้นค่อนข้างยาก ให้สังเกตง่ายๆ ที่มือเป็นสำคัญ ดังนี้

พิมพ์มือมีจุด ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือด้านขวา จะมีจุดหรือเม็ดอยู่ 1 เม็ด

พิมพ์มือเลขแปด นิ้วมือทั้ง 2 ข้างจะไขว้กันเป็นเลข 8 อย่างเห็นได้ชัดเจน

พิมพ์มือนับแบงก์ ที่ปลายนิ้วหัวแม่มือซ้ายจะมีเส้นแตกซ้อนแทงทะลุเข้าไปในระหว่างนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือขวา

หลวงพ่อเงิน ได้สร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลไว้มากมาย ซึ่งล้วนทรงพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ ทั้งคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และโชคลาภ ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหน ปัจจุบันจึงหาได้ยากยิ่ง และค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาครับผม