ความสุขสร้างความพอเพียง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงความพอเพียงว่า “ ที่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงเพราะว่าสมัยนี้เอะอะอะไรก็พอเพียงๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ที่นี้พูดแล้วเศรษฐกิจพอเพียง...คนก็บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันไม่พอเพียง ความจริงมันพอเพียง ถ้าเราพอเพียง แต่ตัวเราไม่ยอมพอเพียง ที่มันใช้ไม่ได้เพราะคนเราไม่พอเพียง ความสุขถ้าจะมีอยู่แล้วก็คือพอเพียงนั่นเอง ถ้าคนเขาพอ เขามีความสุข เราก็มีความสุข ถ้าคนอยากได้โน่นอยากได้นี่มาก เราเห็นแล้วมันไม่พอเพียง เราก็ไม่มีความสุข แต่ความสุขของคนแสดงออกมาด้วยความพอเพียง สำคัญตรงนี้ ให้ทำตัวเองให้พอเพียง ” จะเห็นได้ชัดเจนว่าพระองค์ทรงเน้นย้ำถึงความพอเพียงโดยต้องเริ่มต้นที่ตนเองก่อน ถ้าคนเรารู้จักพอประมาณ ถ้าทำได้แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ในชีวิต ก็สามารถสร้างสุขให้แก่ตนได้ ที่สำคัญเมื่อประชาชนมีความสุข....การพัฒนาในด้านต่างๆ ก็จะก้าวหน้าและสร้างสุขให้แก่แผ่นดินไทยสืบไป. โครงการระบายน้ำปะนาเระฯ ย้อนกลับไปในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ไปยังโครงการระบายน้ำปะนาเระตามพระราชดำริ ต.คอกกระบือ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และทอดพระเนตรคลองระบายน้ำบางมะรวด ซึ่งแต่เดิมเป็นคลองธรรมชาติทีตื้นเขิน แต่ขณะนั้นกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกและขุดคลองระบายน้ำต่อไปทางด้านเหนือ ความยาวประมาณ 17 กิโลเมตร และก่อสร้างอาคารประกอบในคลองระบายน้ำอีก 10 แห่ง เพื่อระบายน้ำออกจากพรุลงทะเลโดยควบคุมน้ำด้วยประตูบังคับน้ำปลายคลอง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสามารถบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งคลองบางมะรวดได้ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองเพื่อใช้สำหรับทำเกษตรกรรมในฤดูแล้งได้อีกด้วย ที่สำคัญคลองระบายน้ำแห่งนี้ยังทำหน้าที่ป้องกันน้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาสร้างความเสียหายแก่พืชผลของราษฎร ทำให้ราษฎรในพื้นที่สองฝั่งคลองบางมะรวด และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน. โครงการขุดลอกหนองทิดอิน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2548 เป็นวันที่สร้างความหวังและความสุขให้แก่ราษฎรในตำบลนาฮี อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับโครงการขุดลอกหนองทิดอิน ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค พื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก มักจะได้รับผลกระทบจากความผันแปรของสภาพอากาศ ทำให้พืชไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ สร้างความเสียหายต่อผลผลิต .... ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความ สำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 2,000 โครงการ และเหนืออื่นใดทรงยึดหลักการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ และอำนวยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นโดยรวม อันเป็นการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรอย่างแท้จริงและยั่งยืน โครงการฝายทดน้ำโต๊ะปิเยาะฯ ภาพแห่งความสุขเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2526 นับเป็นอดีตที่ส่งผลดีแก่ราษฎรบ้านข่าลิงมาจวบจนปัจจุบัน เพราะวันนั้น....พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านข่าลิง ต.พิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง อ.มายอ จ.ปัตตานี และทอดพระเนตรโครงการฝายทดน้ำโต๊ะปิเยาะ และได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างปิดกั้นคลองจาเราะปรารอปูเกะแทนฝายเดิมของราษฎรที่ชำรุดทรุดโทรมลง ซึ่งนอกจากฝายตัวใหม่แล้ว........ยังมีอาคารบังคับน้ำปากคลองส่งน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะส่งเข้าคลองไปเชื่อมกับคลองส่งน้ำเดิมของราษฎร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 2,500 ไร่ใน ต.ปากู และ ต.น้ำดำ ของอำเภอมายอ จ.ปัตตานี ให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย พระราชดำริในการช่วยเหลือราษฎรในครั้งนั้นเป็นบทพิสูจน์ให้ปวงชนชาวไทยรู้ว่า.......ไม่ว่าพสกนิกรจะอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ก็ทรงคำนึงถึงทุกข์ของราษฎร และทรงปัดเป่าทุกข์นั้นให้ผ่านพ้นไปและสร้างสุขให้แก่ราษฎรโดยทั่วกัน. พัฒนาบ้านเจาะบากงด้วยพระราชดำริ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2524 วันที่ 7 กันยายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรภูมิประเทศทางตอนใต้ของแผ่นดินไทย และทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พระองค์ได้ทอดพระเนตรบริเวณที่ทำกินของราษฎรที่ถูกน้ำท่วมที่นาเสียหายเป็นประจำทุกปี แต่หลังจากมีโครงการคลองระบายน้ำมูโนะแล้วปัญหาเรื่องน้ำก็บรรเทาเบาบางลงและราษฎรก็สามารถทำกินได้สะดวกขึ้น และในวันนั้นพระองค์ก็ได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมในการช่วยเหลือราษฎรให้ได้รับความสะดวกในการมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ ให้ดำเนินการขุดคลองซอยจากคลองโต๊ะแดงตอนบนมาเชื่อมกับคลองปลักปลา ในเขตตำบลมูโนะ และลงสู่คลองโต๊ะแดงตอนล่าง พร้อมสร้างประตูบังคับน้ำในเขต อ.ตากใบ โดยวางแนวคลองเลาะไปตามที่ดอน เพื่อบังคับไม่ให้น้ำในคลองลดระดับเร็วเกินไป ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำเพื่อส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูกประมาณหมื่นไร่ให้ได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จากพระราชดำริในวันนั้นเป็นเสมือนต้นธารที่รินไหลกระจายสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ในพื้นที่บ้านเจาะบากงและพื้นที่ใกล้เคียงจวบจนปัจจุบัน. รางวัลสันติภาพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เป็นผู้แทนพระองค์ไปรับรางวัลสันติภาพ ที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยเกียงฮี กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นรางวัลสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้เป็นที่ประจักษ์ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในสายตาชาวโลกพระองค์ทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยมีพระเมตตาต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสโดยไม่ทรงแบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์หรือหมู่เหล่า ทรงรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรและพระราชทานแนวทางพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทรงเพียรพยายามที่จะส่งเสริมและพัฒนาคนโดยให้ความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนา และในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาระดับสูง ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “รางวัลสันติภาพ” จึงเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนชาวไทยที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงงานหนัก และทรงอุทิศพระวรกายสร้างสุขเพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน.