กรมพัฒนาที่ดินมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า ดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ดำเนินงาน พัฒนาทรัพยากรดินและที่ดินทางการเกษตรให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน มีความมั่นคงทางอาหาร และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ไปพร้อมกันโดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้มีการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570  สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 มีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคตะวันตกของประเทศไทย คือ จังหวัด ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม หน้าที่ให้ความรู้ ช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาเรื่องดินทำการเกษตร และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการปรับปรุงบำรุงดินแก่เกษตร โดยให้ความสำคัญกับงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นงานในเชิงโครงสร้าง และงานด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝก การใช้วัสดุอินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งพืชปุ๋ยสด และสารเร่งจุลินทรีย์ พด. ต่างๆ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ ขุดบ่อน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน บ่อน้ำตามนโยบายเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยเกษตรกรวางแผนการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาที่ดินในไร่นา การให้บริการวิเคราะห์ และตรวจสอบดินน้ำ ปุ๋ย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี 

นายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10  กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 (สพข.10) มีการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มุ่งเน้นในตอนนี้ เช่น

1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ผลิตในพื้นที่เกษตรที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว หรือ Zoning by Agri-Map ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อลดพื้นที่เกษตรที่มีศักยภาพต่ำ ให้กลับมาปลูกพืชที่เหมาะสมตรงตามศักยภาพของดิน เพื่อให้สามารถให้ผลผลิตพืชได้ปริมาณมากขึ้น เกษตรกรสามารถจำหน่ายและเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้รัฐสามารถคาดการณ์วางแผนและจัดการปริมาณผลผลิตได้อย่างเหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายผลผลิต และรายได้ของเกษตรกรในที่สุด โดยโครงการนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีความต้องการ เนื่องจากช่วยแก้ปัญหาพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสม และเมื่อปรับเปลี่ยนแล้วทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนที่มากขึ้น กว่าร้อยละประมาณ 20-40 ของรายได้จากการปลูกข้าว 

2) โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ที่มุ่งหวังวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูล และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร มุ่งพัฒนาการผลิตและจัดการผลผลิตเกษตร ตลอดจนพัฒนาการตลาด ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้สามารถเพิ่มมูลค่า ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งกลุ่มเกษตร PGS  โดยโครงการนี้ สพข.10 ได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ แนะนำด้านการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้พืชปุ๋ยสดในการปรับปรุงบำรุงดิน ตามหลักเกณฑ์ของการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนด และตอนนี้มีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสของการบริโภคอาหารสุขภาพและอาหารปลอดภัย กำลังเป็นที่ต้องการและสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสามารถขายในราคาที่สูงกว่าราคาตามท้องตลาด 

3)โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือ สระน้ำในไร่นา 1260 คิว เป็นงานตามภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นโครงการที่สนับสนุนเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรจ่ายเงินสมทบ 2500 บาทต่อบ่อ ซึ่งเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิไม่ว่าจะเป็นโฉนด หรือ สปก. สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา ในช่วงที่มีฝนทิ้งช่วง หรือสามารถปลูกพืชหรือทำการเกษตรได้ในช่วงหน้าแล้งได้ โดยในพื้นที่ สพข.10 นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หากมองในแง่ของการสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ครอบครัวเกษตรกร 

4) โครงการสาธิตการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำระดับไร่นา ในพื้นที่เขตพัฒนาที่ดิน เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรการเกษตร โดยเฉพาะทรัพยากรดินและทรัพยากรน้ำ ให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การทำคันดินรอบขอบเขา (hillside ditch) เพื่อชะลอการไหลบ่า ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ และป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน ลงสู่พื้นที่ลุ่มหรือตกตะกอนในแหล่งน้ำสาธารณะ ก่อให้เกิดความตื้นเขินของแหล่งน้ำ และลำรางสาธารณะ เกษตรกรต้องการจัดทำฝายชะลอและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการปลูกพืชไร่ และไม้ผล ช่วยสร้างอาชีพ และเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เกษตรกร สามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากหลักหมื่นบาท เป็นหลักล้านบาทต่อปี โดยจะเห็นได้จากเกษตรกรผู้ปลูกฝรั่งกิมจู อ้อยโรงงาน และลำไย ในพื้นที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี  

5) โครงการพัฒนาหมอดินอาสา โดยหมอดินอาสาถือเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างยิ่งของกรมพัฒนาที่ดิน หากขาดเครือข่ายหมอดินอาสาแล้ว ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ดิน โดยในพื้นที่ สพข.10 มีโครงการฝึกอบรมหมอดินอาสา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกปี ให้เกิดเป็นเครือข่ายหมอดินที่เข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ดิน โดยบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของหมอดินอาสา ช่วยในการสื่อสารองค์ความรู้วิชาการพัฒนาที่ดิน ตลอดจน การเป็นแหล่งสาธิตงานด้านการพัฒนาที่ดิน และเป็นจุดให้บริการหรือสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งการสนับสนุนสารเร่ง พด. ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และวัสดุปรับปรุงบำรุงดินอื่น ๆ ให้แก่เกษตรกรในชุมชน เป็นต้น

“ผลสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากเรามุ่งเน้นหลักการทำงานเป็นทีม ด้วยค่านิยมของกรมพัฒนาที่ดิน “TEAM For Soils ทีมดี ดินดี” มุ่งสร้างทีมทำงานเชิงรุก คล่องแคล่ว เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้บรรลุวิสัยทัศน์ “องค์กรอัจฉริยะทางดิน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 ” ซึ่งการจัดการดินเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิต รวมทั้งการเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ดังนั้น เกษตรกรและประชาชนสามารถค้นหาความรู้เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน หรือปรึกษาหมอดินอาสาในพื้นที่ แต่ถ้าสะดวกก็สามารถเดินทางมาที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 หรือ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ซึ่งเราพร้อมให้บริการ ให้คำปรึกษาเรื่องดินและ สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ต้องการ ฝากไว้นะครับ ดินมีปัญหา ปรึกษากรมพัฒนาที่ดิน” นายสุทธิดล กล่าว