สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

“พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่” นับเป็นพระเครื่ององค์สำคัญ ในกระบวนพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งในอดีตกาลนั้นสันนิษฐานกันว่าน่าจะ เป็นแม่พิมพ์เดียวกันที่สุด แต่ปัจจุบันมีข้อสรุปเป็นที่แน่ชัดว่า พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ของทั้งสองวัด แม้จะมีพุทธศิลปะคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่สามารถแยกออกได้

เริ่มจากการพิจารณาลักษณะแม่พิมพ์ สำหรับ พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ถึงแม้จะมีการแบ่งแยกพิมพ์ออกเป็น 4 แม่พิมพ์ คือ พิมพ์ 1 มีเส้นแซมใต้หน้าตัก พิมพ์ 2 อกตัววี พิมพ์ 3 อกกระบอก และพิมพ์ 4 เกศทะลุซุ้ม แต่ก็จะมีพุทธเอกลักษณ์หลายประการที่เหมือนกัน จนมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากแม่พิมพ์ตัวเดียวกัน แต่ด้วยการกดพิมพ์หลายครั้งและผ่านกาลเวลายาวนานมิได้พิมพ์เสร็จในครั้งเดียว จึงเกิดการสึกกร่อนของแม่พิมพ์หรือการแต่งแม่พิมพ์ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ขึ้น และข้อสำคัญคือเป็นพระที่ไม่ได้บรรจุกรุ

พระสมเด็จ

ส่วน พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ นั้น ในวงการทั่วไปจะแบ่งเป็นพิมพ์ลึกกับพิมพ์ตื้น และ “พิมพ์ลึก” เป็นพิมพ์ที่มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่มากที่สุด ประการสำคัญ จะต้องไม่ลืมว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมมีทั้งที่ผ่านการบรรจุกรุและไม่ได้บรรจุกรุ ดังนั้น การพิจารณาเฉพาะ “คราบกรุ” และ “สภาพพระที่ผ่านการบรรจุกรุ” จะไม่สามารถแยกแยะหรือชี้ขาดความแตกต่างระหว่างทั้งสองวัด ในกรณีที่เจอพระไม่ได้บรรจุกรุหรือพระกรุเก่าล้างผิว จึงเกิดปัญหาของการข้ามฟากย้ายจากวัดบางขุนพรหมมาเป็นวัดระฆังฯ ที่เรียกว่า "พระสองคลอง" ขึ้น ผู้ที่ไม่ชำนาญในการตรวจสอบพิจารณาจริงๆ แล้ว อาจจะพลาดเช่าพระผิดวัดได้

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่

จึงต้องใช้พิจารณาจากจุดรายละเอียดต่างๆ เพื่อความชี้ชัดลงไปว่าเป็นพระสมเด็จวัดไหน ดังต่อไปนี้

จุดบรรจบกันของเส้นซุ้มครอบแก้วกับเส้นตัดขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายมือขององค์พระ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ จะบรรจบกันที่บริเวณตรงกับข้อศอกซ้ายมือขององค์พระ ส่วน พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ จะบรรจบกันเพียงบริเวณไม่เกินหัวไหล่ด้านซ้ายขององค์พระเท่านั้น

พระเกศ

พระเกศของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะเรียวยาวกว่า พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ยกเว้น พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์เกศทะลุซุ้มเท่านั้น

เส้นขอบบังคับแม่พิมพ์

เส้นขอบบังคับแม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ ด้านขวามือขององค์พระจะแล่นยาวลงมาจดกับมุมซุ้มครอบแก้วด้านล่างสุดเกือบตกขอบแม่พิมพ์ และจะตั้งเป็นเส้นตรงชัดเจนกว่า ในขณะที่พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ เส้นดังกล่าวจะไม่จดกับมุมซุ้มครอบแก้วด้านล่างสุด จะมีพื้นที่นอกมุมซุ้มครอบแก้วด้านขวามือขององค์พระล่างสุดเหลืออยู่เล็กน้อย

พระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์ใหญ่ พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ “องค์ขุนศรี”

เส้นซุ้มครอบแก้ว

เส้นซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จวัดระฆังฯ จะหนากว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเล็กน้อย

ขอบตัดทั้ง 4 ด้าน 

ขอบตัดทั้ง 4 ด้าน ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะปลิ้นขึ้นมาทางด้านหน้า

ด้านหลังขององค์พระ

ด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังฯ จะปรากฏ “รอยปูไต่” ตามขอบทั้ง 4 ด้าน ในขณะที่ด้านหลังของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะปรากฏอยู่ทั่วๆ ไปขององค์พระ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ “องค์ครูเอื้อ” เปรียบเทียบวัดระฆังฯกับ วัดบางขุนพรหม ​​​​​​​

การแอ่นตัวขององค์พระ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ จะแอ่นมาข้างหน้า ถ้าหากวางหงายองค์พระในแนวระนาบด้านหลังจะไม่ขนานกับพื้น ในขณะที่ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะแอ่นไปข้างหลังเหมือนงอตัว หากหงายองค์พระลงกับพื้นขอบทั้ง 4 ด้าน จะไม่ติดพื้น

ด้วยข้อสังเกตดังกล่าวนี้ พอจะเป็นหลักเบื้องต้นในการแยกแยะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ กับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่ง ครับผม