ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ความฝันที่ยิ่งใหญ่อาจจะใช่เพื่อมวลมนุษย์ เพียงฝันให้สำเร็จก็คือความยิ่งใหญ่ในชีวิตนั้นแล้ว

ตอนที่ผมไปเจอศศิมาที่บ้านหน้าพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เธออายุ 40 ปีเข้าแล้ว 15 ปีที่เราไม่ได้เจอกัน เธอเล่าให้ฟังว่าเธอได้เจออะไรมากมาย รวมถึงประสบการณ์ในต่างประเทศเป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ได้สร้างความฝันต่าง ๆ ให้กับเธอมากมาย

ก่อนที่จะมาทำงานที่ร้านนิววิไลการ์เด้นท์ที่เชียงใหม่ หลังจากที่ทางบ้านไม่ได้ให้เรียนต่อเมื่อตอนที่จบ ม.ศ. 3 เธอก็เหมือนถูกดับฝันที่เคยฝันว่าจะทำงานดี ๆ อาจจะเป็นงานราชการแบบที่คนทั่วไปนิยมกัน หรืองานออฟฟิศแบบที่คนสมัยใหม่นิยม แต่พอไม่ได้เรียนต่อมัธยมปลายเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เธอเสียใจอยู่เป็นปี จนเธอบรรลุนิติภาวะเธอก็ตัดสินใจขอทางบ้านออกมาทำงานที่เชียงใหม่ ที่ร้านนิววิไลการ์เด้นท์นั้น

การเป็นสาวเสิร์ฟในร้านอาหารถูกมองว่าเป็น “อาชีพเสี่ยง” แต่ด้วยการดูแลอบรมของร้านและการยอมรับปฏิบัติตาม ทำให้ไม่เกิดปัญหาเหล่านั้น แต่กระนั้นเธอก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าอยากจะเปลี่ยนงานที่ดูดีกว่านั้น แต่วันหนึ่งเธอก็เปลี่ยนความคิด ซึ่งก็คือวันที่เธอได้ไปทำงานในงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ ที่บ้านริมปิงของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อหลังวันสงกรานต์ พ.ศ.2524 เพราะได้ไปพบแรงบันดาลใจบางอย่าง

แขกที่มาในงานวนเวียนมาตักอาหารจากโต๊ะที่จัดวางอาหารพื้นเมืองของร้านไว้อย่างหลากหลาย มีหนุ่มใหญ่สองคนน่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ คุยชมอาหารที่จัดวางไว้ว่าอร่อยมาก ต้องมาตักเป็นรอบที่สอง แล้วถามเธอว่าใครเป็นแม่ครัวหรือคนทำ เธอตอบว่าเจ้าของร้านลงมือทำเองอย่างสุดฝีมือ คนหนึ่งบอกว่านี่แหละคือ “หน้าตา” ของชาวเมืองเหนือ อีกคนหนึ่งก็พูดว่า “ถ้าต่างชาติได้มาทานก็คงติดใจ และทำให้เชียงใหม่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก”

เธอลืมคำพูดของหนุ่มใหญ่สองคนเมื่อวันนั้นไปสนิท จนเมื่อต่อมาได้มีฝรั่งกลุ่มหนึ่งมาทานอาหารที่ร้าน เธอเป็นคนเดียวในหมู่เด็กเสิร์ฟที่พูดภาษาอังกฤษพอได้ เนื่องจากเธอต้องช่วยที่บ้านขายของให้นักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก และด้วยความรู้ความสามารถในการตอบถามเรื่องต่าง ๆ ทำให้ฝรั่งคนหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวคณะนั้นติดใจ ก่อนกลับประเทศยังแวะมาหาอีกรอบ พร้อมให้ที่อยู่และนัดแนะว่าจะเขียนจดหมายมาหาเป็นระยะ ซึ่งเมื่อกลับไปแล้วก็เขียนจดหมายมาจริง ๆ

จดหมายฉบับแรก ๆ จะคุยกันถึงเรื่องอาหารชาวเมืองเหนือ และวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ โดยฝรั่งคนนี้ที่เป็นชาวเยอรมันชื่นชมว่าคนยุโรปน่าจะชื่นชอบอาหารทางภาคเหนือของไทย แล้วถามว่าเธอทำอาหารเหล่านั้นเป็นบ้างหรือไม่ ซึ่งเธอก็ตอบว่าทำเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะต้องช่วยแม่ทำอาหารเลี้ยงคนในบ้าน และเมื่อได้มาทำงานที่ร้านอาหารก็เคยช่วยแม่ครัวทำอาหารหลาย ๆ อย่างอยู่เป็นประจำ ต่อ ๆ มาก็คุยกันเรื่องพ่อแม่และญาติพี่น้อง ซึ่งฝรั่งคนนี้ก็ชื่นชมในวัฒนธรรมของความกตัญญูและการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แล้วก็บอกว่าเขากำลังจะเกษียณ และอาจจะต้องไปดูแลแม่เช่นกัน

จนถึงจดหมายสักฉบับที่ 5 ฝรั่งคนนี้ก็เขียนมาชวนเธอไปอยู่ที่เยอรมนี โดยบอกว่าจะให้ทุนเรียนภาษาและการทำอาหาร แล้วอาจจะมาเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่ หรือต่อไปอาจจะกลับไปเปิดที่เยอรมนีก็ได้ คำเชิญชวนนี้ทำให้เธอเกิด “ระเบิดฝัน” ขึ้นมาทันที เพราะก็เคยมีบางช่วงเวลาเหมือนกันที่เธอใฝ่ฝันว่าจะเป็นแม่ครัวที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะเมื่อย้อนนึกไปถึงคำพูดของหนุ่มใหญ่สองคนในวันขึ้นบ้านใหม่ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วมาตอกย้ำด้วยคำชื่นชมของฝรั่งคนนี้ ว่าเธออาจจะมีชื่อเสียงในทางการทำอาหารนี้ต่อไป

ในวันเบญจเพสของศศิมา เธอยอมรับว่าเธอนั้นยังอ่อนต่อโลกมาก ฝรั่งเยอรมันคนนี้บอกแผนให้ว่า จะให้องค์กรการกุศลแห่งหนึ่งในเยอรมันเป็นคนติดต่อให้ทุน เพื่อให้ทางบ้านของเธออนุญาต เธอก็เชื่อโดยไม่ได้เฉลียวใจ เมื่อพ่อแม่อนุญาตแล้ว ฝรั่งคนนี้ก็บินมาทำเรื่องขอวีซ่าและเอกสารต่าง ๆ ในการเข้าประเทศ โดยมาโน้มน้าวเธอให้เข้าพิธีแต่งงาน “แบบเงียบ ๆ” โดยจัดจ้างบาทหลวงที่โบสถ์โปรเตสแตนท์แหงหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ทำพิธีให้ จนได้ทะเบียนสมรส แล้วไปทำเรื่องต่าง ๆ จนเสร็จสรรพในเวลาแค่ 2 สัปดาห์ แล้วก็เดินทางไปที่กรุงเบิร์น ประเทศเยอรมันนี

เธอจำได้แม่นว่าตอนนั้นเป็นหน้าหนาวใกล้เทศกาลคริสต์มาส อากาศที่เยอรมันหนาวมาก แต่ที่แย่กว่านั้นคือในเมืองค่อนข้างเงียบเหงา คนส่วนใหญ่จะกลับไปอยู่กับครอบครัว ฝรั่งคนนี้ก็เช่นกันก็พาเธอไปอยู่บ้านแม่ของเขา ซึ่งอยู่ออกมาจากตัวเมืองด้วยการขับรถยนต์สัก 2 ชั่วโมง แม่ของฝรั่งคนนี้มีอายุ 80 กว่าปีแล้ว แต่ยังแข็งแรง แต่ความจำไม่ค่อยดี อย่างที่เรียกว่าเป็นอัลไซเมอร์ แต่ก็พูดจาสนุกสนานร่าเริง โดยพยายามจะพูดภาษาอังกฤษกับเธอแบบงู ๆ ปลา ๆ เหมือนกัน จนกระทั่งหลังปีใหม่ฝรั่งคนนี้ก็กลับเข้าเมือง โดยบอกว่าต้องกลับไปทำงาน แต่ได้เขียน “ใบสั่งงาน” ไว้อย่างละเอียดของทุก ๆ วัน ซึ่งก็คือการเลี้ยงดูแม่อายุ 80 กว่า ๆ นี้ โดยจะกลับมาก็ในตอนเย็นวันศุกร์ และเข้าเมืองไปในเย็นวันอาทิตย์

ด้วยความใหม่ต่อสถานที่ ทำให้เธอไม่กล้าออกไปไหนมาไหน แต่ฝรั่งคนนี้ก็ดูแลเธอดีพอสมควร โดยไม่ได้บังคับขืนใจให้เธอต้องยอมตัวเป็นภรรยาจริง ๆ แต่อย่างใด ทั้งยังยังได้ฝากเพื่อนบ้านที่เป็นคู่สามีภรรยาอาวุโสในวัยที่ใกล้กับแม่ของเขา ให้ช่วยแนะนำถ้าเธอจะไปปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือในเรื่องอะไร ซึ่งเธอก็ออกไปพูดคุยด้วยในบางวัน โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกินและการซื้อของในร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ด้านการสงเคราะห์และดูแลสวัสดิการชุมชม แวะเวียนมาเยี่ยมผู้สูงอายุสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ทำให้เธอรู้สึกว่าฝรั่งนั้นเขามีระบบสวัสดิการที่ดีมาก ๆ มีกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ในสังคมคอยกำกับดูแล แตกต่างจากที่แถวบ้านของเธอที่อยู่ภายใต้การกำกับของวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนในครอบครัวว่าจะยังอยู่ในครรลองของวัฒนธรรมนั้นหรือไม่ แต่ในประเทศเยอรมันนั้นหากใครทอดทิ้งบุพการีที่ชราภาพและลูกที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับหรือถูกตัดสิทธิบางอย่าง รวมถึงถูกจำคุกถ้าบุคคลเหล่านั้นได้รับอันตราย

ศศิมาได้เรียนภาษาแต่เป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นกำไรเพราะได้เพิ่มมาอีก 1 ภาษา ในขณะที่ภาษาอังกฤษของเธอก็ได้พัฒนาขึ้นบ้าง เพราะได้ใช้มากกว่าตอนที่อยู่เมืองไทย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยธรรมชาติของเธอที่ชอบใฝ่หาความรู้ เวลาทำอะไรหรือไปไหนมาไหนก็สังเกตจดจำ รวมถึงถามคนที่อยู่ใกล้ ๆ นอกจากจะเป็นการฝึกใช้ภาษาแล้ว ยังทำให้ได้ความรู้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น กฎกติกาต่าง ๆ ของชุมชน เป็นต้นว่าไม่เด็ดดอกไม้หรือใบไม้ แม้จะไม่มีเจ้าของ การทิ้งขยะที่ต้องแยกประเภท การรักษาความสะอาด และการจราจร และด้วยนิสัยช่างพูดช่างคุยของเธอก็ทำให้เธอเป็นที่รักของคนที่ได้มารู้จักพูดคุยด้วย ในที่สุดความเหงา ความกลัว และความคิดถึงบ้านก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป รวมถึงฝรั่งที่พาเธอมาก็ดีต่อเธอพอสมควร พาไปเที่ยว ไปซื้อของ และออกงานสังคมในชุมชนบ้าง ซึ่งก็ทำให้เธอรู้ว่าเขามีครอบครัวอยู่ในเมือง แต่แยกกันอยู่ และมีลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย 1 คน

โชคดีที่ศศิมาเป็นคนมองโลกในแง่ดี แน่นอนว่าชีวิตในต่างแดนเป็นชีวิตที่ยากลำบาก แต่ถ้ารู้จักปรับตัว และใช้สถานการณ์ด้านลบเป็นแรงผลักด้านบวก ปัญหาก็จะผ่านพ้นไปได้ และบางทีก็จะโชคดีมีสิ่งดี ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต