สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2396 แถบวัดปากคลองมะขามเฒ่า  ต่อมาได้เข้ามาทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ บริเวณคลองบางเขน ในเขต จ.นนทบุรี จนมีครอบครัวร่วมกันสร้างฐานะจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา แต่ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะบวชทดแทนบุญคุณบิดามารดา พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบัน คือ วัดโพธิ์ทองล่าง) ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง มี หลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จาก หลวงพ่อเชย ผู้ทรงคุณทั้งด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลังนัก พร้อมกับพระอาจารย์ เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่าวัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

จากนั้นเริ่มออกธุดงควัตรเพื่อหาที่สงบฝึกฝนวิทยาการต่างๆ ที่ได้เรียนมา พร้อมศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูป ท่านได้เรียนกรรมฐานกับสำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) กับ พระสังวราเมฆ พระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น เรียนด้านรสายนเวท อันได้แก่ การเล่นแปรธาตุ และโลหะเมฆสิทธิ์ กับ หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม โดยพักอยู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน

หลวงปู่ศุข กับ เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก และ รุ่นเดียว

ต่อมา เมื่อมารดาชราลงและเจ็บไข้บ่อยๆ ท่านจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าจนเสร็จสมบูรณ์ โดยมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญ ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาที่คงเหลือเป็นประจักษ์พยานในปัจจุบัน คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า  และ ภาพเขียนสีน้ำมัน รูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มองค์และถือไม้เท้า ซึ่งทรงเขียนในขณะที่หลวงปู่ศุขชราภาพมากแล้ว ที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ณ วัดปากคลองมะขามเฒ่า จวบจนทุกวันนี้  หลวงปู่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2467 ด้วยโรคชรา

หลวงปู่ศุข เริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับเหรียญไปบูชาต่างเกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ จึงเป็นปฐมเหตุให้ผู้คนนิยมขอพระจากท่านเพื่อนำมาให้ลูกหลานห้อยคอเพื่อป้องกันสุนัขและสัตว์มีเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ เรียกได้ว่าเด็กในละแวกนั้นจะมีพระวัดปากคลองมะขามเฒ่า เนื้อตะกั่ว คล้องคอกันแทบทุกคน แล้วถ้าจะไปกราบขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า “เอ็งมีลูกกี่คน” ท่านจะให้ครบทุกคน ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณโด่งดังขจรไกล

วัตถุมงคล หลวงปู่ศุข พิมพ์ประภามณฑล ข้างรัศมี

การสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของหลวงปู่ศุขนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระสี่เหลี่ยมรัศมีหรือข้างอุ โดยใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการสร้างและหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้างหาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น วัตถุมงคลของท่าน มีทั้ง พระปิดตากรมหลวงชุมพรฯ พระพิมพ์แจกแม่ครัว พระเครื่องหลวงปู่ศุขพิมพ์ต่างๆ แต่ละประเภทล้วนมีค่านิยมตั้งแต่หลักหมื่นขึ้นไปถึงหลักแสนทั้งสิ้น ตามความสมบูรณ์ขององค์พระ รวมไปถึงเครื่องรางของขลัง เช่น ตะกรุด เป็นต้น ยิ่งเป็น พระพิมพ์สีเหลี่ยมประภามลฑล ยุคต้นๆ ยอดแตะถึงหลักล้านแล้ว

พิมพ์ประภามณฑล ข้างรัศมี เนื้อสัมฤทธิ์ พิมพ์สองหน้า และเนื้อทองแดง

สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูงสุด ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม พุทธคุณเป็นเลิศ และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข เป็นหนึ่งในห้าเหรียญยอดนิยมที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

พุทธลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปไข่กลม ห่วงเชื่อม พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงพิมพ์เดียว ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ชั้นนอกหนา ชั้นในเรียวเล็ก ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุข นั่งเต็มองค์ แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคด อยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุ พ.ศ.ที่สร้าง คือ "๒๔๖๖" ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยจารึกสมณศักดิ์และชื่อวัดว่า "พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า" ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว "อุขึ้น อุลง"

พิมพ์แจกแม่ครัว

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ด้านหน้า

- ปลายหางตัว ค คำว่า พระครู จะมีขีดเกินเล็กๆ ปรากฏอยู่

- มือขวาบนหน้าตักของหลวงปู่แกะเป็นร่องดูเหมือนนิ้วแยก

- บริเวณร่องแยกในโบระบุปี พ.ศ. ด้านขวามือของหลวงปู่ มีขีดเล็กๆ ซ้อนกัน 2 ขีด ส่วนด้านซ้ายมี 3 ขีด

- นิ้วเท้าของหลวงปู่แกะเป็นร่องดูเห็นเป็น 3 นิ้ว และนิ้วโป้งจะใหญ่ที่สุด

พิมพ์ไม่มี อุ (พิมพ์นิยม)

พิมพ์ด้านหลัง โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 3 เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางทำเป็น "ยันต์ 3" หมายถึง พระไตรสรณคมน์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ "นะ มะ อะ อุ" ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์คือ "มะ โม พุท ธา ยะ" ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ "อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ" แบ่งออกเป็น 4 พิมพ์ อาจเป็นเพราะสมัยก่อนการชุบแม่พิมพ์ยังไม่แข็งแรงและเหนียวพอ ยิ่งแม่พิมพ์ด้านหลังที่ต้องเป็นตัวตอกย้ำ จึงรับน้ำหนักมากกว่าด้านหน้า ทำให้เกิดการชำรุดและเสียหายก่อน จนต้องแกะแม่พิมพ์ด้านหลังกันขึ้นมาใหม่ มีดังนี้

1) พิมพ์หลังไม่มี "อุ" ซึ่งเป็นพิมพ์นิยม หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์

2) พิมพ์หลังมี "อุ (เล็ก)" จะมีอักขระขอม ตัว “อุ (เล็ก)” แทรกอยู่หน้าตัว “นะ”  และหลังตัว “ยะ”

3) พิมพ์หลังมี "อุ (ใหญ่)" เช่นเดียวกับพิมพ์ที่ 2 แต่ตัว “อุ” จะใหญ่กว่า 

และ 4) พิมพ์หลัง "อุ และมีดาว"

พิมพ์ อุเล็ก

พุทธคุณไม่ต้องพูดถึงเป็นเลิศทุกด้านคลอบจักรวาลโดยเฉพาะะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีส่วนทางด้านค่านิยมการเล่นหาก็ว่ากันเป็นหลักแสนถ้าสวยๆ ก็วิ่งปาเข้าไปหลักล้านเลยทีเดียวเชียวครับผม

พิมพ์ อุใหญ่