เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลคัดเลือกจากผลงานของคณาจารย์ นักวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการ และประชาชน ทั้งนี้รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆ เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในทุกปี

สำหรับปีการศึกษา 2565 นี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 4 ราย จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาการแต่งตำรา สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม และสาขาความเป็นครู ดังนี้

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาการแต่งตำรา ได้แก่ รศ.พญ.อาภัทรสา เล็กสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการแต่งตำรา เรื่อง "เทคนิคการผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่" จากประสบการณ์ตรงกว่า 25 ปี โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการตรวจวินิจฉัย การวัดมุมเหล่ การกำหนดวิธีผ่าตัด การวางระยะบนกล้ามเนื้อตาที่ต้องการ ผ่าตัด รูปแบบการเย็บกล้ามเนื้อตา เป็นต้น โดยได้สอดแทรกเคล็ดลับพร้อมภาพประกอบ เพื่อให้จักษุแพทย์ได้เรียนรู้และศึกษาเทคนิคต่างๆ ในการผ่าตัดที่ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดการผ่าตัดซ้ำได้ต่อไปในอนาคต

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้แก่ รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์นวัตกรผู้ประสบความสำเร็จ จากการนำเส้นใยใบสับปะรดที่เหลือทิ้งจากการเกษตร มาทำให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ตลอดจนทนอุณหภูมิได้สูงขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกักเก็บคาร์บอนได้ ทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติก ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันผลงานดังกล่าวได้พัฒนาสู่สตาร์ตอัพ เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ 

 

และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาความเป็นครู มีจำนวน 2 ท่าน ดังนี้ ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สามารถแสดงบทบาทได้อย่างดียิ่ง ทั้งใน "ความเป็นแพทย์" และ "ความเป็นครู" โดยใน "ความเป็นแพทย์" ได้บุกเบิกพัฒนาวิธีการรักษาโรคตับ จนสามารถแยกออกมาจากโรคระบบทางเดินอาหารได้ตั้งแต่ในสมัยที่ความรู้ด้านโรคตับยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนา และยังคงขาดแคลนยารักษา ขณะที่ใน "ความเป็นครู" ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้ลูกศิษย์สามารถนำไปปฏิบัติ ทั้งต่อผู้ป่วย และเพื่อการดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เกิดความใฝ่รู้ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ศ.คลินิก พญ.กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มและพัฒนาผลงานสิทธิบัตร นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนสอน "App Logbook" ให้สามารถใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน โดยเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้กับนักศึกษาแพทย์ในการเรียนการสอนรายวิชากุมารเวชศาสตร์ทั้ง 3 ชั้นปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 – ปัจจุบัน นอกจากช่วยให้นักศึกษาได้บันทึกการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติหัตถการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ครบถ้วน ยังได้ทำให้อาจารย์ และทีมการศึกษา สามารถกำกับดูแล ติดตามการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ได้แบบ Real-time และประเมินก่อนจบรายวิชาว่าได้รับประสบการณ์การเรียนรู้เพียงพอหรือไม่ ปัจจุบันทีมพัฒนา “App Logbook” ได้ขยายผลพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเพิ่มประสิทธิผลการเรียนรู้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การได้ร่วมงานวิจัยกับ สหสาขาวิชา จึงได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านโรคไตในเด็ก และโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่

ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกทั้ง 4 ท่าน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2565 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา