สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าว “เยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรง ด้วยวิจัยนวัตกรรม โดยเชิญนักวิจัยและอาจารย์จากสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมนำเสนอผลการศึกษาเพื่อตอกย้ำให้สังคมสร้างความเข้าใจกับเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว และให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเยาวชน ที่ต้องใส่ใจเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา  

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยแห่งชาติ วช. กล่าวว่า ความท้าทายหนึ่งของนักวิจัยคือการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม นำไปสู่การลดความรุนแรง รวมถึงการชี้ให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง เอาชนะอิทธิพลทางสังคม เป็นข้อมูลผู้ปกครองได้ทราบเกี่ยวกับการดูแลและแก้ปัญหาเมื่อบุตรหลานติดเกม โดย วช.ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนไทย ร่วมกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมไทยไร้ความรุนแรง

อาจารย์ณัฐพร กังสวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลวิจัยเรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาติดเกมในเด็กและเยาวชนไทย 6-25 ปี ว่า โรคติดเกม มีลักษณะดังนี้ 1.ควบคุมการเล่นเกมของตนเองไม่ได้ 2.ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่าอย่างอื่น 3.แม้รู้ว่าเกิดผลเสียกับตัวเองแต่ยังคงเล่นอยู่ ประเทศไทยพบช่วงอายุ 6-25 ปี ติดเกมร้อยละ 5.4 โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเด็กรู้สึกมีค่าในตนเองต่ำ ขาดทักษะชีวิต พ่อแม่ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน (สังคม) โดยสัญญาณอาการติดเกมเริ่มจากเล่นเกมเพื่อจัดการอารมณ์ทางลบบ่อย ๆ แม้จะกระทบการเรียนและกิจกรรมอื่นก็ยังไม่หยุดเล่น

แนวทางป้องกันปัญหาติดเกม  ต้องให้ความรักความอบอุ่นและให้เวลากับเด็ก ควบคุมการเล่นเกมไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงในวันหยุด ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก พ่อแม่มีแนวทางเลี้ยงลูกทิศทางเดียวกัน สร้างแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์ และส่งเสริมให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ห้ามเด็กใช้มือถือในห้องนอน โต๊ะอาหาร โต๊ะทำการบ้าน ควบคุมการใช้สื่อออนไลน์ ผู้ปกครองครองควรศึกษาเกมที่เด็กเล่นว่ามีเนื้อหาเหมาะสมหรือไม่

รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลวิจัย เรื่อง เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรงด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ว่า ด้านการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ปี 2542 พบเยาวชนไทยกระทำผิดอันดับ 8 ของโลก ปร 2558 เป็นอันดับ 1 ของประชาคมอาเซียน ตลอดจนปี 2561 พบว่า มีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนจากการรังแกกันเป็นอันดับ 2 ของโลก และการทำผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้นจากปี 2564-2565 ร้อยละ 14.76 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนยังเป็นปัญหาสำคัญและเกิดขึ้นต่อเนื่อง การใช้ความรุนแรงของเยาวชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

สิ่งที่ทำได้ในระยะสั้นคือ ไม่แชร์ข่าวลักษณะนี้ออกไป เพราะอาจก่อพฤติกรรมเลียนแบบได้ รวมถึงการควบคุมอาวุธปืน ส่วนระยะยาว ต้องอาศัยการร่วมมือทุกภาคส่วน ต้องมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่โทษเด็กและครอบครัวเท่านั้น หากครอบครัวมีความอบอุ่น ให้ความรักความเอาใจใส่ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เชื่อว่าเด็กจะไม่หลงไปตามปัจจัยที่มากระตุ้นโดยง่าย ที่สำคัญคือ สถานศึกษาต้องปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เด็กเก่งมีภูมิคุ้มกันชีวิตภายนอกสถานศึกษา รวมถึงผู้ปกครองควรเอาใจใส่เพื่อนในโลกออนไลน์ของเด็ก และสังคมควรสนับสนุนการทำดี ข่าวดี เพื่อสร้างตัวอย่างในการดำเนินชีวิต

ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลวิจัย เรื่อง ป้องกันความรุนแรงในสังคมไทย : โปรแกรมเด็กรุ่นใหม่ใจเย็น ๆ การฝึกทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธในวัยเด็ก ว่า จากการทดลองใช้แนวทางลดความโกรธในโรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ จาก 2 เขต 4 โรงเรียน จำนวน 250 คน ได้ผลเป็นอย่างดี ความเสี่ยงในการเกิดความโกรธลดลง โดยสิ่งแรกที่นำมาใช้ป้องกันความโกรธอันเป็นต้นเหตุของความรุนแรง คือ หลักคิดทางพุทธศาสนา เช่น การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องรู้เท่าทันอารมณ์โกรธ สร้างความคิดบวกตามวิถีพุทธในชีวิตประจำวัน ใช้วาจาสุภาพภายในครอบครัว และแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสมาชิกภายในครอบครัว โรงเรียน การแสดงเจตนาเพื่อเป็นเด็กรุ่นใหม่ใจเย็น ๆ โดยการเขียนคำมั่นสัญญาและบันทึกวิดีโอในความตั้งใจที่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความใจเย็น

รศ.ดร.ปิยะพร ตันณีกุล อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่องอาวุธปืน พบว่า การขออาวุธปืนในประเทศไทยค่อนข้างง่ายคนไทยครอบครองปืนกว่า 10 ล้านกระบอก แต่ยังตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นปืนที่มีทะเบียนถูกต้องหรือเป็นปืนเถื่อน จากเหตุอาชญากรรมส่วนใหญ่มาจากปืนที่มีทะเบียน แต่ผู้นำมาก่อเหตุไม่ใช่เจ้าของปืน ทำให้อัตราโทษไม่ได้ระบุว่าผู้ก่อเหตุครอบครองปืนเถื่อน หรือรับโทษน้อยลงนั่นเอง จึงต้องทบทวนกฎหมายด้านนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือการตรวจสุขภาพจิตก่อนขออนุญาตอาวุธปืน ในประเทศไทยยังไม่ระบุให้ผู้ขออนุญาตต้องตรวจสุขภาพจิตก่อน เพียงแต่ใช้ใบรับรองจากฝ่ายปกครองเท่านั้น เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อระบุว่าเป็นคนดี ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือมีปัญหาอะไร เท่านั้นก็ได้ปืนมาแล้ว ซึ่งใบอนุญาตครอบครองปืนเป็นใบอนุญาตตลอดชีพ ซึ่งในขณะที่ขออนุญาตผู้ขออาจมีสติดี สุขภาพดี แต่เวลาผ่านไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจมีปัญหารุมเร้าชีวิต ทำให้สติขาดหายไป

ดังนั้นการมีอาวุธปืนในมือจึงง่ายต่อการกระทำความผิด ใบอนุญาตครอบครองปืนจึงไม่ควรให้ตลอดชีพ ควรต่ออายุเหมือนใบขับขี่ เพื่อทดสอบสติของผู้ครอบครองอยู่ในระยะ ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการเก็บรักษาอาวุธปืนที่เหมาะสม จึงเกิดกรณีลูกนำปืนไปใช้เกิดอันจรายต่อผู้อื่น ขณะที่ในต่างประเทศผู้ขออนุญาตครอบครองปืนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีสถานที่เก็บปืนที่เหมาะสม และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่อาจต้องมีการทบทวนต่อไป