ในปีการศึกษา2565 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น จำนวน 10 คน ประกอบด้วยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 8 คน ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์  2 คน  

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 3 คน ได้แก่

ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา สาธารณสุขศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันระดับโมเลกุล และระดับหลังปริญญาเอกด้านอณูชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจัยและนักบริหารที่ทรงคุณวุฒิและเปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเป็นที่ตั้ง เป็นผู้อุทิศทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดและเวลาให้กับงานในหน้าที่และส่วนรวม ผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล รวมถึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้ความรู้ความสามารถในฐานะปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และองค์ความรู้ทางแพทยศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตต่ำ และมีการบริหารจัดการในระดับกระทรวงและมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะป้องกัน ดูแลและให้ภูมิคุ้มกันแก่บุคลากรในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นที่ประจักษ์ชัด

รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท นักสหกรณ์แห่งชาติสาขาวิชาการสหกรณ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วงการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ผลักดันให้นำผลงานวิจัยและผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายระดับชาติ และการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์ชุมชน จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ

รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท มีผลงานวิชาการด้านสหกรณ์ เผยแพร่ทั้งรูปแบบเอกสาร หนังสือ บทความ ซึ่งนำไปใช้ในการเรียนการสอนและการอ้างอิงในแวดวงวิชาการด้านสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายระดับชาติ การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาชุมชน ผลงานที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นต้นแบบนวัตกรรมชุมชนที่ต่อยอดขยายผลไปใช้อย่างกว้างขวาง อาทิ ผลงาน “ข้าวคุณธรรม” ผลงาน “สามพรานโมเดล” ผลงาน “ตัวแบบธุรกิจ Famer Shop” และตัวแบบ “GROW Model” ปัจจุบันสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้นำผลงานนวัตกรรมเหล่านี้ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ และชุมชนภายใต้โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย หน่วยงานรัฐ ขบวนการสหกรณ์ และชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นายสมบูรณ์ อึงอารี ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ นายสมบูรณ์ อึงอารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อึ้งกุ่ยเฮงสกลนคร จำกัด ผู้มีแนวคิดและผลงานด้านการบริหารจัดการ อันเป็นศาสตร์สูงสุดของการพัฒนาธุรกิจ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสกลนคร

นายสมบูรณ์  อึงอารี เป็นนักธุรกิจที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ได้นำความรู้และประสบการณ์จากบทบาทนักบริหารจัดการธุรกิจมาปรับใช้ในการบริหารงาน โดยขณะดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การลงทุนบนเส้นทางหมายเลข  R8 และ R12 เชื่อมโยงสกลนครกับนครพนม เชื่อมต่อ ลาว และเวียดนาม รวมทั้งผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนรถขนส่งสินค้าระหว่างเวียดนามและไทย ตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ส่งเสริมสินค้าเนื้อโคขุนโพนยางคำ ผ้าย้อมคราม น้ำหมากเม่าเป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัด ส่งเสริมชุมชนเข็มแข็งและสานต่อโครงการฝึกอบรมพัฒนาผู้มีศักยภาพประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จังหวัดสกลนคร จำนวนมาก