ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็น “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งหมายถึง วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร์ และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ เมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 นำความเศร้าโศกมาสู่พสกนิกรชาวไทยทั่วแผ่นดิน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งหมายถึง วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ ในวันนี้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยจัดกิจกรรมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงปกครองประเทศชาติและประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระราชหฤทัยในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความกินดีอยู่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่อาณาประชาราษฎร์ และความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ พระองค์ทรงงานด้วยหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลากหลายสาขากว่า 4,000 โครงการ ก่อเกิดเป็นศาสตร์แห่งพระราชา นอกจากนี้พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวาระโอกาสต่างๆ คือปรัชญาคำสอนและคติธรรมที่พระองค์ทรงปรารถนาให้ชาวไทยตั้งมั่นอยู่ในความดีงามความพอดี ความพอเพียง รักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติอารยะ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นเอตทัคคะทั้งศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ทรงเป็นทั้งปราชญ์และครูแห่งแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ ทรงเป็นกษัตริย์นักคิดและนักพัฒนาพระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและประทับใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญามากมายหลายด้าน เช่น อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการวิจัยไทย เป็นต้น ที่สำคัญอย่างยิ่ง องค์การสหประชาชาติได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาพระมหากษัตริย์นักพัฒนา

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “นายช่างใหญ่” มีพระราชดำรัสที่สอดคล้องกับทรรศนะดังกล่าวในเรื่องกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะว่า “ความเป็นศิลปิน หมายถึง ความสามารถตามธรรมชาติที่จะเห็นความงามและ คิดถึงความงาม เมื่อเกิดความคิดแล้วก็ต้องอาศัยวิชาความรู้หรือเทคนิค เช่น วิชาช่าง เป็นต้น จึงจะแสดงออกมาเป็นจิตรกรรม ปฏิมากรรม หรือศิลปกรรม ในลักษณะอื่นๆ ได้” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2507 (“งานช่างของในหลวง” โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี)

ในการสร้างสรรค์งานช่าง ความคิดมีความสำคัญมากดังที่พระองค์ทรงเน้นไว้ดังนี้ “การทำอะไรด้วยมือได้ไม่ใช่หมายความว่ามือทำเอง มันมาจากสมอง สมองสั่งให้ มือทำจึงจะทำได้ งานช่างคืองานที่ผนวกกันระหว่างสมองกับมือ เพราะฉะนั้น ต้องทำเอง ขีดเอง ลูบคลำมันไป แล้วมันจะได้จากมือที่ลูบคลำ จากตาที่ดูย้อน กลับมาที่สมอง ทำให้คิดอะไรขึ้นมาได้” (คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ, 2530 : 20) (อ้างแล้ว, ภาพ)

ในวันนวมินทรมหาราช เราชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่