ในปีการศึกษา2565 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น จำนวน 10 คน ประกอบด้วยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 8 คน ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์  2 คน เมื่อวันที่ 12 ต.ค.66 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 3 คน ได้แก่

นายจำลอง เติมกลิ่นจันทน์ ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตร

นายจำลอง เติมกลิ่นจันทน์  นิสิตเก่าสัตวบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีส่วนร่วมในการผลักดัน การผลิตอาหารปลอดภัย ที่มีส่วนส่งเสริมการแข่งขันด้านการส่งออกไก่เนื้อ จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับต้นๆของโลก ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ กลุ่มบริษัทเครือซันกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด นายจำลอง เติมกลิ่นจันทน์  มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ไก่เนื้อและไก่ไข่ครบวงจร โดยประยุกต์ใช้ความรู้วิชาการสมัยใหม่และนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาใช้ในการพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่เนื้อที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค งดเว้นการใช้ยาปฏิชีวนะในลักษณะเร่งการเจริญเติบโตและการไม่ใช้ยากันบิด ริเริ่มให้มีการใช้สมุนไพรและโพรไบโอติกเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตไก่อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม จนประสบความสำเร็จในเครือซันกรุ๊ปตั้งแต่ปี 2558

นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย One Health Policy ของวงการปศุสัตว์ของไทย เป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล International Innovation Awards ได้รับรางวัลการจัดการที่มีคุณภาพของโลกในงาน European Award for Best Practices รางวัล Thailand Energy Awards ปี2564  2566 และ ASEAN Energy Awards ปี 2564 สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้หลักของ Bio-Circular-Green Economy ในกระบวนการผลิตทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดของเสียและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวนศาสตร์ คณะวนศาสตร์

นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ นิสิตเก่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นักชีววิทยาสัตว์ป่าของไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย  ผู้ริเริ่มและมีส่วนสำคัญ ในการผลักดันการพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่น ในด้านนิเวศวิทยาเพื่อการจัดการพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่สำคัญยิ่งทั้ง 4 คณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ

ผลงานอันโดดเด่นของท่านคือการผลักดันการพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบที่สร้างความเข็มแข็งให้แก่การดูแลคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่าบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ จนนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่คุ้มครองของประเทศ มากกว่า 200 แห่งอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 20 ปี เกิดผลสัมฤทธิ์เรื่องการปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งยังเป็นผู้ร่วมริเริ่มและผลักดันให้คณะวนศาสตร์ เปิดทำการเรียนการสอนวิชาการลาดตระเวนเชิงคุณภาพสําหรับการจัดการพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งคณะวนศาสตร์ ถือเป็นแห่งแรกของโลกที่จัดการเรียนการสอนเรื่องนี้ในระบบมหาวิทยาลัย

Professor Emeritus Tatsuji Seki ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณทัตสึจิ เซกิ ผู้มีคุณูปการในวงการวิชาการวิจัยด้านจุลชีววิทยา โดยเฉพาะเทคโนโลยีจุลินทรีย์ ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาอาหารหมักแบบดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาของ Institute for Fermentation, มหาวิทยาลัยโอซาก้า ศ.เกียรติคุณเซกิ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านจุลชีววิทยา มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับนานาชาติ 108 ฉบับ และจดสิทธิบัตร จำนวน 32 สิทธิบัตร ได้รับรางวัลจาก Society for Actinomycetes ประเทศญี่ปุ่น มีค่าดัชนี h เท่ากับ 33 ท่านเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการหลักสูตรการฝึกอบรมระยะยาวสองหลักสูตรติดต่อกัน ได้แก่ UNESCO International Post-graduate University Course in Microbiology และ UNESCO Postgraduate Inter-University Course in Biotechnology

นอกจากนี้ ยังบริหารจัดการหลักสูตร JSPS Core University โครงการวิจัยสหกรณ์ทวิภาคี สาขาวิศวกรรมจุลชีววิทยา ในอุตสาหกรรมเกษตร ระหว่าง 9 มหาวิทยาลัยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในประเทศไทย และมหาวิทยาลัย 16 แห่งในประเทศญี่ปุ่นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยหลักของประเทศ ก่อให้เกิดองค์ความรู้และสร้างสรรค์นักวิจัยร่วมกันเป็นจำนวนมาก