สถาปนา กปร. เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524 รัฐบาลได้ดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.2524 เพื่อกำหนดให้มีองค์กรระดับชาติที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกว่า คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือเรียกว่า สำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานกลาง ในการรับและประมวลพระราชดำริเพื่อให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนได้ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสมดั่งพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า “ ....เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่ทรงคิดค้นขึ้น เพื่อลดความไม่สมดุลในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี นั้นมีมากกว่า 4,000 โครงการ และเป็นเวลา 30 ปี แล้วที่สำนักงาน กปร.ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ และเน้นกระบวนการบริหารจัดการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ให้เป็นระบบครบวงจร สามารถสนองพระราชดำริได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายผลและเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน. คลองระบายน้ำบ้านโคกกูแวฯ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำบ้านโคกกูแว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่จัดสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริเพื่อรับน้ำจืดที่มีคุณภาพดีจากคลองมูโนะส่งเข้าไปตามคลองสายต่างๆในเขตโครงการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นมีน้ำชะล้างดินและใช้ทำการเกษตร ตลอดจนส่งลงคลองระบายน้ำต่างๆ สำหรับรักษาระดับน้ำในคลองไม่ให้ต่ำเกินไป และลดความเปรี้ยวของน้ำให้เจือจางลงด้วย ซึ่งโครงการคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำบ้านโคกกูแว อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ได้ช่วยให้ชาวบ้านในหมู่บ้านโคกกูแว บ้านโคกกระเทียม บ้านโคกอิฐและบ้านโคกใน สามารถเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และทำการเพาะปลูกได้เพิ่มมากขึ้น......เส้นทางน้ำที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นเสมือนตัวแทนความห่วงใยจากพระองค์ส่งผ่านสายน้ำ.....รินไหลและสร้างสุขให้ราษฎรแล้วอย่างแท้จริง. พระราชดำริด้านการปศุสัตว์ วันที่ 11 กันยายน 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์แพร่พันธุ์สัตว์นราธิวาส ณ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทอดพระเนตรโรงเลี้ยงโคพระราชทาน โรงเลี้ยงแกะตามแนวพระราชดำริ เล้าไก่และเป็ดพระราชทาน พร้อมพระราชทานพระราชดำริความว่า “ ควรสำรวจหาที่ดินสาธารณะที่เหมาะสม สำรัหบพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์รวมของราษฎร ให้เป็นสัดเป็นส่วนในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จักดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสัตวบาลอย่างง่ายๆ โดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ช่วยส่งเสริมเท่าที่จำเป็น ส่วนที่ดินซึ่งแม้จะมีลักษณะแห้งแล้ง ก็ควรคำนึงถึงโครงสร้างของผิวดินก่อนทำการบุกเบิกเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อจักได้ไม่เป็นการทำลายคุณภาพดินให้เลวลงไปอีก จนใช้ประโยชน์ไม่ได้เสียเลย ” ตลอดระยะเวลาของการทรงงานพัฒนา พระองค์ทรงส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ ควบคู่และเกื้อกูลกับการเพาะปลูกพืช ทรงเห็นว่าเกษตรกรสามารถนำสิ่งเหลือทิ้งจากการเพาะปลูกไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ และก็สามารถนำมูลสัตว์ไปปรับปรุงบำรุงดินช่วยเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร ทรงให้พิจารณาความเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศและคำนึงถึงความสมดุลของสภาพแวดล้อม อันก่อเกิดเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรอย่างยั่งยืน โครงการแหลมผักเบี้ยฯ วันที่ 12 กันยายน 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และขยะชุมชน ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ประหยัด สะดวก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นที่มาของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยการระบายน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี เข้าสู่ระบบบ่อบำบัดของโครงการ ซึ่งใช้กลไกทางธรมชาติในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะชุมชน โดยใช้จุลทรีย์ย่อยสลายในกล่องคอนกรีต ซึ่งเป็นภาชนะที่มิดชิด ทำให้กระบวนการหมักย่อยสลายดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ธรรมชาติขจัดความเสื่อมโทรม ทรงแปรเปลี่ยนน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดี ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม และหล่อเลี้ยงสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสุขให้แก่ราษฎรไทยสืบไป. ฝายทดน้ำท่าธงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 13 กันยายน 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการฝายทดน้ำท่าธงตามพระราชดำริ ณ ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งกรมชลปรทานได้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อสนองพระราชดำริแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3,000 ไร่ ของราษฎร 4 หมู่บ้าน ในเขตตำบลท่าธง โดยมีพระราชดำรัสกับนายอำเภอรามัน ความว่า “...ให้สำรวจที่ดินที่เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อจัดรูปที่ดินและพิจารณาจัดสรรให้ราษฎรเข้าทำกินโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มีสิทธิ์ทำกินชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งนี้จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการซึ่งประกอบด้วยผู้นำราษฎร และข้าราชการจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง...” ด้วยน้ำพระราชหฤทัย ได้ก่อเกิดสายธารซึ่งคอยหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ อันนำมาสู่การสร้างความสุขให้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนผืนแผ่นดินไทย.