วันที่สร้างสุข วันที่ 14 กันยายน 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ณ ต.ปะลุกาสาเมาะ ทรงทอดพระเนตรผลงานสหกรณ์หัตถกรรมทอผ้าบาเจาะ จำกัด พร้อมพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแสดงความพอพระราชหฤทัยที่ได้มีการประกอบอาชีพทอผ้าเพื่อเสริมอาชีพหลัก คือการทำไร่นา เพื่อความอยู่ดีกินดีของครอบครัว จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านบือเระใต้ ทรงแนะนำให้ราษฎรได้ทำสวนครัว โดยการปลูกผักต่างๆ เช่น พันธุ์ถั่ว ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ทางด้านอนามัยแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมอีกด้วย เพราะสามารถบำรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้น อีกทั้งทรงแนะนำให้ราษฎรปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางไข่ และพระราชทานพระราชดำริถึงความสำคัญของการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมักตามหมู่บ้านซึ่งจะเป็นการประหยัดทุนทรัพย์ของราษฎร ....ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านดูกู เพื่อทอดพระเนตรการสาธิตการเกี่ยวข้าวนาปรัง การนวดข้าวโดยใช้เครื่องจักร และโดยวิธีการพื้นเมือง การฝัดข้าว ตลอดจนการตำข้าวสารกรอกหม้อ ช่วงบ่ายจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรทำนบกั้นน้ำและท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร ณ บ้านปาโละบาลอ พร้อมพระราชทานพระราชดำรัสแสดงความพอพระราชหฤทัยในการจัดสร้างทำนบและท่อส่งน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้สำหรับพื้นที่นากว่า 2,000 ไร่ อันเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับหมู่บ้านใกล้เคียงที่จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในอนาคตอาจรวมเป็นระบบส่งน้ำตามอำเภอต่างๆ และมีบ่อพักน้ำตามสายคลองสำหรับการเลี้ยงพันธุ์ปลาเพื่อบริโภคหรือจำหน่าย ตลอดการเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น ได้ก่อเกิดเส้นทางแห่งการพัฒนา ซึ่งได้สร้างความหวังให้แก่ราษฎรชาวบาเจาะ และได้สร้างความสุขให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย. เสด็จฯ โครงการชลประทานนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ วันที่ 15 กันยายน 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชลประทานนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ตามพระราชดำริ ทรงทอดพระเนตรฝายทดน้ำกาเปาะ ซึ่งกรมชลประทานได้ก่อสร้างสนองพระราชดำริ เพื่อจัดหาน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิกนิคมสร้างตนเองในเขตพื้นที่บ้านกาเปาะกว่า 200 ไร่ และพระราชทานพระราชดำริความว่า “ การจัดสรรที่ทำกินให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองเข้าอยู่อาศัยเป็นกลุ่มๆ นั้น ควรจะพิจารณาจัดผังโดยถือลุ่มน้ำเป็นหลัก เพราะสมาชิกทุกกลุ่มจะได้มีน้ำใช้สอยเท่าเทียมกัน ส่วนแปลงเพาะปลูกก็อาจจัดเป็นแปลงรวมของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้จักการทำงานร่วมกันในลักษณะกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนการการปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตราฐาน และสามารถแบ่งปันรายได้ระหว่างสมาชิกกลุ่มอย่างยุติธรรม” ด้วยสายน้ำแห่งพระมหากรุณาธิคุณได้ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และสร้างความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้านกาเปาะ อันนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และการสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนสืบไป. พระราชดำริ แกล้งดิน การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอมิได้เพื่อทรงพักผ่อนเช่นสามัญชนทั่วไป แต่ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จะเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรหรือติดตามโครงการที่มีพระราชดำริไว้ ดังเช่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ได้เสด็จพระราชดำเนิน จ.นราธิวาส ทรงทราบว่าราษฎรมีความเดือดร้อนหลายเรื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตร เช่น การขาดแคลนที่ทำกิน ปัญหาในพื้นที่พรุซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี แม้สามารถทำให้น้ำแห้งได้ ดินก็เป็นดินเปรี้ยวจัดทำการเกษตรได้ผลน้อยไม่คุ้มทุน ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎร จึงได้พระราชทานพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความว่า “ ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว..” เป็นที่มาของโครงการที่ทรงเรียกว่า“แกล้งดิน” เริ่มจากวิธีการแกล้งดินให้เปรี้ยวด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้เปรี้ยวจัดปีละหลายๆ รอบ แล้วตรวจสอบสภาพความเป็นกรดด้วยการปลูกพืชทดสอบ หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจและนำผลที่ได้มาใช้ปรับปรุงดินเปรี้ยวจนกระทั่งได้ผลดี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าพรุและอีกหลายๆ จังหวัดทางภาคใต้ ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืนจวบจนปัจจุบัน. ทรงให้สร้างแหล่งน้ำให้บ้านกูตง - บ้านบาโงกูโบ ย้อนกลับไปในปี 2528 เมื่อวันที่ 17 กันยายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรภูมิประเทศและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ตำบลบองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส พร้อมกับได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสำรวจแหล่งน้ำบริเวณบ้านกูตง-บ้านบาโงกูโบ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎร โดยได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่จะให้การช่วยเหลือราษฎรด้วยพระองค์เอง จากนั้นจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาหาทำเลสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร ที่มีอยู่ประมาณ 1,000 ไร่ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาและปลูกพืชไร่ได้ตลอดปี .........แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 20 ปี แล้ว แต่ผลจากพระราชดำริในครั้งนั้นก็ยังคงสร้างประโยชน์สุขและชีวิตที่มั่นคงให้แก่ราษฎร .........ในวันนี้อ่างเก็บน้ำบ้านบาโงกูโบ ยังคงทำหน้าที่ส่งผ่านสายธารพระเมตตาไปยังพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ให้มีน้ำ.....ปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงผลผลิตให้เจริญงอกงาม สร้างความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศไทยนำมาซึ่งความสุขให้แก่ราษฎรโดยทั่วกัน. ฝายบุขี้เหล็กฯ งานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ นับเป็นพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวพระราชดำริต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทานที่อาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งความผันแปรของสภาพดินฟ้าอากาศทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร และจากที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา ขอพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องของแหล่งน้ำ พระองค์ก็มิได้รอช้าที่จะพระราชทานความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ดังเช่นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550 สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือให้สำนักงาน กปร. กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมตามที่ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุขี้เหล็กใหม่ หมู่ที่ 11 ต.แสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขอพระราชทานโครงการขุดลอกหนองน้ำและฝายกั้นน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านบุขี้เหล็กใหม่และบริเวณใกล้เคียงให้มีน้ำเพียงพอที่จะทำการเกษตร พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างฝายบ้านบุขี้เหล็กใหม่ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ........ ในวันนี้ฝายบ้านบุขี้เหล็กใหม่ที่พระราชทานไว้ได้ช่วยให้ราษฎรบ้านบุขี้เหล็กใหม่ หมู่ที่ 11 และบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 กว่า 300 ครัวเรือน มีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดินและป่าไม้ในบริเวณใกล้เคียงให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยสร้างชีวิต และสร้างสุขให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม. แนวพระราชดำริหบรรเทาน้ำท่วมในเมืองหลวง เมื่อปี 2538 ช่วงเดือนกันยายน เป็นอีกปีหนึ่งที่เกิดสภาวะฝนหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตมีนบุรี ,หนองจอก ,ลาดกระบังและบริเวณใกล้เคียง ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2538 พร้อมกับได้พระรชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยให้กรมชลประทานสำรวจหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ที่บริเวณถนนสุขุมวิทเพื่อช่วยสูบน้ำลงอ่าวไทยให้มากขึ้น และบริเวณที่น้ำไหลไม่สะดวกในพิจารณาติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเพิ่มให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเฉพาะหน้าด้วยวิธีการที่ง่ายและรวดเร็ว สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีส่งผลให้การระบายน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างระบบระบายน้ำถาวร เพื่อผลักดันน้ำส่วนเกินให้ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด อันเป็นที่มาของโรงการแก้มลิงที่แสดงให้เห็นผลสำเร็จจากพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง ........จากพระราชดำริในวันนั้นช่วยให้ราษฎรในเขตกรุงเทพและปริมณฑลได้รับการบรรเทาทุกข์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ และที่สำคัญโครงการดังกล่าวได้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เสด็จฯ บ้านตามุง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านตามุง ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และทอดพระเนตรแหล่งน้ำบริเวณหมู่บ้านดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีพระราชดำรัสให้เจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจพื้นที่ร่วมกับราษฎร เพื่อหาทำเลที่เหมาะสมสร้างอ่างเก็บน้ำ สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขต ต.เชิงคีรี ต.มะตะยูง อำเภอศรีสาคร กับ ต.รือเสาะ อำเภอรือเสาะ เป็นเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยให้เพาะปลูกข้าวสลับกับพืชหมุนเวียนของราษฎรสามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี ด้วยแหล่งน้ำที่ได้พระราชทานนี้ทำให้ราษฎรทั้ง 3 ตำบลมีข้าวเพียงพอสำหรับบริโภค มีผลผลิตจากพืชไร่จำหน่ายควบคู่ไปกับการกรีดยางซึ่งเป็นอาชีพเดิม นอกจากนั้นยังสามารถใช้แหล่งน้ำสร้างอาชีพเสริมทางการประมงเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ด้วยแนวพระราชดำริรระเบิดจากข้างใน โดยทำให้ราษฎรในพื้นที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ก่อนแล้วจากนั้นจึงค่อยขยายผลการพัฒนาออกมาสู่สังคมภายนอก ซึ่งส่งผลให้ราษฎรมีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน.