สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

ถ้าหากจะพูดถึง "เจ้า" หรือ "นาย" แห่งภูตผีปีศาจทั้งหลายแล้ว เรามักจะเอ่ยนาม "ท้าวเวสสุวรรณ" หรือบางทีพวกพรามหณ์เรียกว่ากัน "ท้าวกุเวร" หรือทางพุทธเรียก "ท้าวไพศพ" ผู้สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นล่างสุดของฉกามาพจร ชื่อ สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกาภูมิ รูปร่างหน้าตาของท้าวเวสสุวรรณ จะเป็นที่คุ้นเคยกันในบ้านเราเป็นอย่างดี คือ เป็นรูปยักษ์ถือตระบองขนาดใหญ่  ด้วยความที่ท่านเป็นเจ้าแห่ง อสูร รากษส และ ภูตผีปีศาจ คนโบราณจึงมักทำรูปท้าวเวสสุวรรณแขวนไว้เหนือเปลเด็กอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ภูตผีปีศาจมารบกวน นอกจากนี้ ยังนิยมทำผ้ายันต์รูปท้าวเวสสุวรรณ หรือ จำหลักเป็นด้ามของมีดหมอ ที่สัปเหร่อใช้กำราบวิญญาณ

เซี่ยวกาง วัดนางชี

คติความเชื่อแบบไตรภูมินั้น จะมีท้าวโลกบาลประจำอยู่ 4 ทิศ มักนิยมจำหลักอยู่ตามบานประตูโบสถ์ ประตูวิหาร เลยเรียกว่า "ทวารบาล" หมายถึง ผู้ดูแลประตู

เซี่ยวกาง วัดบวร

ท้าวจตุโลกบาลประจำทิศทั้งสี่จะประกอบด้วย ทิศตะวันออก พราหมณ์เรียก พระอินทร์ พุทธเรียก ท้าวธตรฐ มี คนธรรพ์ เป็นบริวาร ทิศตะวันตก พราหมณ์เรียก พระวรุณ พุทธเรียก ท้าววิรูปักษ์ มี นาค ครุฑ และเทวดา เป็นบริวาร ทิศใต้ พราหมณ์เรียก พระยม พุทธเรียก ท้าววิรุฬหก มี กุมภัณฑ์ เป็นยักษ์มีอัณฑะใหญ่เท่าหม้อตาล เป็นบริวาร และ ทิศเหนือ คือ ท้าวเวสสุวรรณ พราหมณ์เรียก ท้าวกุเวร พุทธเรียก ท้าวไพศพ มี อสูร รากษส และภูตผีปีศาจ เป็นบริวาร

ทวารบาล วัดราชบพิธ

 ในตำราโบราณและงานวรรณคดี กล่าวตรงกันว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” เป็นยักษ์ที่มีพัสตราภรณ์และผิวกายสีเหลืองทอง จิตใจดีงาม ดำรงอยู่ในสัตยธรรม ถึงขนาดอุทิศตนถวายพิทักษ์รักษาพุทธสถานและองค์พระพุทธเจ้า จึงนับเป็นเทพอีกองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามวัดวาอารามต่างๆ มักมีรูปปั้นยักษ์ยืนถือกระบองค้ำพื้น หรือไม้เท้าขนาดใหญ่อยู่ระหว่างขา หรือคทา  เฝ้าอยู่หน้าประตูโบสถ์ หรือวิหาร ที่มีพระพุทธรูป หรือสมบัติของมีค่าของทางวัดเก็บรักษาอยู่ ทั้งยังป้องกันไม่ให้หมู่มารมารังควาน และปกป้องคุ้มครองแก่ผู้นั่งสมาธิปฏิบัติพระกรรมฐาน รวมถึง ตามบานประตูทางเข้า, ซุ้มประตูวัด โบสถ์ วิหาร ศาลเจ้า, บานพระทวารพระที่นั่ง หรือบานประตูตู้พระธรรมก็เช่นกัน มักจะมีภาพเขียนรดน้ำปิดทองหรืองานไม้แกะสลักปิดทองติดอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพธรรมชาติในป่า และมีสัตว์นานาชนิดกำลังอยู่ในอากัปกิริยาต่างๆ ความมุ่งหมายเพื่อเป็นการตกแต่งให้สวยงาม แต่บางแห่งก็ทำเป็นภาพหรือไม้แกะสลักเป็น ยักษ์ สิงห์ อมนุษย์ หรือเทวดา เป็นต้น จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้รักษาประตู เรียกว่า ทวารบาล นั่นเอง

ทวารบาล วัดสุทัศน์

 บางครั้งพบทวารบาลบางแห่งเป็นแบบจีน แทนที่จะเป็นรูปเทวดาแบบไทยถือพระขรรค์ กลับเป็นเทวดาจีนคล้ายตัวงิ้ว ถือ หอก ดาบ หรือ ง้าว เหยียบอยู่บนสิงโตจีน เราเรียกทวารบาลแบบจีนว่า "เสี้ยวกาง" หรือ "เซี่ยวกาง" เข้าใจว่าเป็นอิทธิพลของจีนที่เข้ามาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บางแห่งวาดรูปเป็นทหารจีน ใส่ชุดเกราะป้องกันศัตรูป้องกันสิ่งอัปมงคล อย่างเรื่องพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ก็มี

กำเนิด"ทวารบาล" ผู้พิทักษ์รักษาประตู

ทวารบาลวัดสุวรรณาราม

 หนังสือทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน ที่จัดทำโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เขียนไว้ว่า "ทวารบาล" มาจากคำว่า "ทวาร" ที่แปลว่า ประตู และ"บาล" ซึ่งแปลว่า รักษา ปกครอง  "ทวารบาล" จึงมีความหมายว่า ผู้รักษาประตู ซึ่ง จากคำแปลก่อให้เกิดการตีความต่อประติมากรรมประเภททวารบาลว่าคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม ที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องทางผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได แต่หากประติมากรรมชนิดเดียวกันนี้ ไปตั้งอยู่บริเวณอื่นที่มิใช่ประตู หรือช่องหน้าต่าง หรือทางเข้าออก ก็ไม่สามารถจะกล่าวว่าเป็นทวารบาล

ท้าวเวสสุวรรณ-ทวารบาล

สำหรับกำเนิดของการสร้างทวารบาลนั้น น่าจะเกิดมาจากความเชื่อที่ว่า "ผี" เป็นผู้กระทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหนือธรรมชาติ และได้รับการพัฒนามาเป็นความเชื่อในเรื่องของเทวดาโดยได้รับอิทธิพลจาก อินเดีย ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยทางศาสนาฮินดูนั้นก่อเกิดเทพเจ้าต่างๆขึ้น โดยกำหนดให้เขาไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีพระอิศวรเป็นใหญ่ และมีเทพชั้นรองทำหน้าที่พิทักษ์ผู้รักษาประตู หรือทางเข้าสู่เขาไกรลาส ทั้งแปดทิศ ซึ่งเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ไม่จำกัดรูปร่าง จะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ตามแต่ความเชื่อ ซึ่งสัตว์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์เรียกว่า "สัตว์หิมพานต์" ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาสที่ถือเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้า

นางฟ้า ประตูวิหารวัดอัปสรสวรรค์

จากคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์นี้ได้นำมาใช้กับงานประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เหตุที่ชาวฮินดูต้องการให้มีเทพปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งมนุษย์ทั่วไปไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็น ด้วยตา ทั้งนี้เนื่องจากศาสนสถานเหล่านั้นสร้างขึ้นตามคติที่เทพเจ้าสูงสุดประทับอยู่ จึงจำลองเขาไกรลาสมาไว้ยังโลกมนุษย์ แล้วเกิดคติการสร้าง “ทวารบาล” ขึ้นมา

จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงทวารบาลตำนานของอินเดียว่า ในยุคบรรพกาล พวกอสูรกับเทวดามักจะรบกันอยู่เสมอๆ แต่ว่าพวกอสูรจะเกรงกลัวพระอินทร์มาก เนื่องจากพระอินทร์ถือสายฟ้า (วชิราวุธ) และพระอินทร์ท่านก็เห็นว่าพวกเทวดาที่เป็นบริวารหวาดกลัวอสูร จึงให้วาดรูปพระอินทร์ไว้ตามประตูสวรรค์

ภาพเขียนสีเซี่ยวกางข้างประตูอุโบสถวัดราชนัดดา

"ส่วนตามคติความเชื่อของไทยเอง ก็ถือว่าพระอินทร์เป็นผู้รักษาพระศาสนาด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดตรงนี้ จึงเกิดมีการผสมผสานกันเกิดเป็นทวารบาลหลายรูปแบบขึ้นมา ทั้ง เทวดาถือพระขรรค์ ท้าวเวสสุวรรณ (ยักษ์) เทวดาไทยผสมจีน (เซี่ยวกาง) หรือ ถือพวกอาวุธต่างๆ ขี่กิเลนบ้าง ขี่สิงห์บ้าง ตามศาสนสถานต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งก็แนวคิดที่แตกต่างกันไป"

นอกจากจะรับมาจากอินเดียแล้ว ไทยเรายังรับเอา “อิทธิพลของทวารบาลมาจากจีน” อีกด้วย คติความเชื่อเรื่อง “ทวารบาล” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองจีน ก่อนจะแผ่อิทธิพลมาถึงเมืองไทยจนกลายเป็นงานศิลปะไทยที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ทวารบาลแบบจีนที่ไทยนิยมกัน ก็คือ "เซี่ยวกาง" มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "เซ่ากัง" ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

คติของการมีเทพผู้พิทักษ์ประตู หรือการตั้งสิ่งที่ดูน่าเกรงขามน่ากลัวในการ ป้องกันศาสนสถานมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่จีนหรืออินเดียเท่านั้น ทางกรีซ โรมันก็มีความเชื่อในเรื่องผู้พิทักษ์เช่นกัน เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อว่าสถานที่ต่างๆ บางครั้งจะมีสิ่งที่ชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ มารบกวน ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างผู้พิทักษ์เป็นรูปปั้นบ้าง ใช้เป็นรูปสลักบ้าง หรือเป็นรูปวาดบ้างเพื่อใช้ในการป้องกันศาสนสถานนั้นๆ

หากพูดถึง “ทวารบาลที่น่าสนใจในเมืองไทย” แล้ว ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หลายๆ วัดมีทวารบาลที่สวยงาม แปลก และมีเรื่องราวอยู่ไม่น้อย อย่างที่โดดเด่น ก็คือ “ประตูเซี่ยวกาง วัดบวรนิเวศวิหาร” ตรงด้านหน้าพระอุโบสถที่ได้รับอิทธิพลของจีนมาอย่างเด่นชัด โดยประตูเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นรูปเทวดาผี ใช้ไม้แกะเป็นรูปเทวดา หนวดเครายาว ปิดทองเหลืองอร่าม ตนหนึ่งมือซ้ายถือสามง่าม มือขวาถือกริช เหยียบบนหลังจระเข้ อีกตนหนึ่งมือขวาถือโล่ มือซ้ายถือดาบ เหยียบบนหลังมังกร

ที่ “ประตูวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ซึ่งแม้จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่ โดยบานประตูจะเป็นไม้สักสลักเป็นรูปเซี่ยวกางกำลังถือง้าวอยู่บนหลังสิงโต หรือที่ “วัดนางชี” ที่ตรงพระอุโบสถแกะไม้เป็นรูปเซี่ยวกางได้อย่างสวยงาม

ยักษ์ทวารบาลคู่ ประจำบันไดทางขึ้นตัวปราสาทพระเทพบิดร วัดพระแก้ว

ส่วนที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีทวารบาลที่แปลกและโดดเด่น เป็นรูปทหารต่างๆ แต่งกายไม่เหมือนกันสลักติดไว้ เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็กซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาล สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดเรื่องทวารบาลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม คือ แทนที่จะเป็น รูปเซี่ยวกาง หรือ รูปยักษ์ กลับเป็นรูปทหารแต่งเครื่องแบบถือปืน 

บานประตูพระวิหารหลวงของวัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งพระวิหารหลวงทั้งพระอุโบสถจะมีรูปเทพผู้พิทักษ์ หรือที่วัดอัปสรสวรรค์ จะมีทวารบาลลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้าอันอ่อนช้อย

ส่วนที่วัดราชนัดดา ทวารบาลจะไม่อยู่บนประตู แต่จะเป็นภาพเขียนสีอยู่ที่ข้างประตูโบสถ์แทน หรือที่ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ก็จะเป็นยักษ์วัดแจ้งอันโด่งดัง เป็นทวารบาลอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม คู่อริของยักษ์วัดแจ้ง รูปแบบจะผิดแปลกไปในลักษณะชาวต่างชาติเลยทีเดียว 

ทวารบาลแบบไทยจึงมีหลายรูปแบบ ทั้ง เทวดาขี่พระขรรค์ หรือบางแห่งที่เคยเห็นเขาทำเป็นรูปจักรก็มี เป็นรูประหว่างเทวดากับอสูร หรือลิงกับยักษ์ก็มี หรือเป็นรูปเทพเจ้าก็มี ซึ่งนอกจากจะมุ่งเน้นความเชื่อเรื่องเทพผู้รักษาประตูแล้ว ทวารบาลบางวัดยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี