​นายกฯ แถลงฯ แจ้งว่าสถานการณ์ในอิสราเอลอาจรุนแรงขึ้น ขอให้คนไทยพิจารณาแจ้งความประสงค์กลับบ้าน กังวลหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจะอพยพลำบาก ห่วงใยชีวิตประชาชนไทยเป็นอันดับหนึ่ง

วันนี้ (23 ตุลาคม 2566) เวลา 15.30 ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

การติดตามสถานการณ์ในวันนี้ การนำคนไทยกลับมาได้ประมาณ 800 คนต่อวันและสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนใจไม่เดินทางกลับมา เหตุผลหลักคือทางนายจ้างที่อิสราเอลดึงเรื่องการจ่ายเงินเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน มีการขึ้นค่าจ้างเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ต่อ ในส่วนของการทหารการต่างประเทศยืนยันตรงกันว่าแม้การถล่มจะเบาบางลง แต่ความเข้มของสงครามไม่ลดลง มีแนวโน้นเพิ่มขึ้นและขยายวงไปบางประเทศใกล้เคียง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง กังวลว่าจะเลวร้ายลง และมีข่าวว่าจะมีปฏิบัติการภาคพื้นดิน ซึ่งมีข่าวว่าอาจจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 วันนี้ โดยขอเตือนพี่น้องคนไทยให้พิจารณากลับประเทศไทย ถ้ามีปฏิบัติการภาคพื้นดินจะทำให้การอพยพยากลำบากขึ้นอีก ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบ

นายกฯ ได้สั่งการกระทรวงแรงงานให้ดูแลแรงงานที่จะกลับเข้ามา โดยเพิ่มแรงจูงใจ อาจจะเพิ่มค่าแรงจาก 15,000 บาทเป็นจำนวนที่มากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นห่วงช่วยคิดถึงการทำงานภายหลังกลับมาประเทศไทยของแรงงานฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เคยทำงานด้านการเกษตร ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพราะฉะนั้นการกลับเข้ามา กระทรวงเกษตรฯ อาจมีความต้องการในส่วนของแรงงานนี้ และจะประกาศออกไปให้ทราบว่าถ้ากลับมาก็จะมีงานทำอยู่

นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลได้ใช้ถูกวิธีทาง ผ่าน นรม.มาเลเซีย รวมทั้งได้พูดคุยกับกษัตริย์โอมาน บาห์เรน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ทุกท่านตระหนักและทราบดีว่าไทยไม่ได้เป็นคู่ความพิพาทกับใคร มีความสูญเสียที่สูงมาก มีตัวประกันอยู่ถึง 19 คน ตอนนี้ และยังไม่รู้ชะตากรรม ทุกฝ่ายทำงานอย่างหนัก โดยจะมีเจ้าหน้าที่ชั้นสูงเดินทางออกไปพบ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด วันนี้สามารถอพยพคนไทยกลับประเทศได้ 800-1000 คน สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการก็มีปัญหา อยากให้กลับมาแสดงเจตจำนงกลับมา ไม่อยากให้เปลี่ยนใจ ถ้ามีการปฎิบัติการภาคพื้นดิน การลำเลียงคนออกมาศูนย์พักพิงจะยากขึ้น อย่างแรกคือความปลอดภัยของแรงงานไทยอย่างอื่นการจัดการอื่นๆ เป็นเรื่องรอง คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่