ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

เมื่อธรรมชาติปิดกั้นความเป็นพรหม บางคนบางคู่จึงต้องกลายเป็น “พรหมประดิษฐ์” ที่ไม่เพียงแต่ลิขิตชีวิตให้ตัวเอง แต่ยังสามารถลิขิตชีวิตให้สังคมอีกด้วย

ในยุคมิลเลนเนียม ธุรกิจต่าง ๆ ได้เปลี่ยนวิธีการแข่งขันทางธุรกิจ จากการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ปั้นยอดขาย ทำลายคู่แข่ง แย่งลูกค้า และ “บ้ากำไร” มาสู่การทำธุกิจแบบยั่งยืน แข่งขันกันเอาใจลูกค้า พัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ และร่วมด้วยช่วยกันดูแล “เอาใจใส่” สังคม จากธุรกิจแบบสู้กันเลือดสาดจนท่วมทะเล อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Red Ocean มาสู่ Blue Ocean ที่ดูสงบเยือกเย็นกว่า และมาเป็น White Ocean ที่เน้นการทำความดีดังกล่าว

ธุรกิจใหญ่ ๆ อวดหน้าอวดตากันด้วยการทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่ฮิตมาก ๆ ก็เช่น การแจกผ้าห่มในหน้าหนาว และการแจกน้ำ อาหาร หรือยา ในพื้นที่กันดาร รวมถึงการให้ทุนการศึกษา หรือถ้าทุนหนาก็ถึงขั้นแจกทุนประกอบอาชีพ บริษัทของอมรก็ไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นธุรกิจเก่าแก่และมีชื่อเสียงถึงระดับนานาชาติ จึงต้องเข้าร่วมวงการเป็น “บริษัทที่ดี” หรือที่เรียกในยุคใหม่นี้ว่า “บรรษัทภิบาล” ด้วยอีกบริษัทหนึ่ง

ปีหนึ่งบริษัทของอมรไปแจกผ้าห่มให้กับชาวบ้านที่อยู่บนภูเขาในหลายจังหวัดทั้งที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ในจังหวัดสุดท้ายที่จังหวัดเลย ในตอนเย็นของวันก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ เอมอรได้พาเด็กสาวสองคนจากหมู่บ้านสุดท้ายที่แจกผ้าห่มในตอนสายนั้นมาด้วย เธอบอกว่าสองคนนี้อยากไปทำงานที่กรุงเทพฯ เธอก็เลยถามว่าให้ไปทำงานบ้านที่บ้านเธอก่อนดีไหม เด็กสองคนก็ตกลง ซึ่งอมรก็ไม่ขัดใจ

เด็กสาวสองคนขึ้นรถทัวร์ตามมาในอีกสองวันต่อมา เอมอรให้คนขับรถไปรับที่สถานีขนส่งมาที่บ้าน ทั้งสองคนทำงานด้วยความขยันขันแข็ง เรียนรู้ได้เร็ว เพราะตั้งใจและเอาใจใส่ในการทำงาน จนเอมอรประหลาดใจมาก ต่างจากคนรับใช้อื่น ๆ ในบ้าน ที่บางคนก็เป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า บางคนพอมีลูกก็ไม่ให้ทำงานบ้านต่อไปอีก ออกไปอยู่ข้างนอก แล้วยังเทียวไปเทียวมาขอเงินพ่อแม่ที่ยังทำงานรับใช้ ทำให้บ้านคนใหญ่คนโตบางตระกูลหาคนทำงานบ้านแบบ “สืบตระกูล” นั้นไม่ได้ จำเป็นจะต้องหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งบางคนก็ไม่เอา เพราะหวาดระแวงว่าจะมาก่อเรื่องร้ายและหนีกลับประเทศบ้านเกิด ส่วนคนรับใช้คนไทยที่ยังอยู่ เจ้าของบ้านก็ต้องเอาอกเอาใจไม่ต่างจาก “เจ้านาย” ในบ้านอีกคนหนึ่ง ทำให้เศรษฐีหลายคนมีความทุกข์มาก ๆ ซึ่งบางทีก็ส่งผลกระทบถึงธุรกิจหรือกิจการของบ้านนั้นตระกูลนั้นอีกด้วย เช่น ต้องเอาลูกไปฝากเลี้ยงแพง ๆ ที่เนิร์สเซอรี รวมถึงบ้านที่มีคนแก่หรือคนป่วย แล้วก็เกิดปัญหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน รวมทั้งความเครียดและความวุ่นวายต่าง ๆ ในชีวิต

วันหนึ่งเอมอรจึงถามเด็กสาวสองคนว่า ทำงานเก่งและขยันอย่างนี้อยากได้รางวัลอะไรเป็นพิเศษหรือ ทั้งสองคนตอบอย่างสอดคล้องกันว่า เงินเดือนและชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านของคุณเอมอรนี้ก็ดีมาก ๆ อยู่แล้ว แต่เธอทั้งสองหวังจะได้ “วิชา” คือการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างที่ได้มาทำงานบ้านนี้ก็เป็นวิชาอย่างหนึ่ง แต่ก็คงไม่ใช่งานที่ยั่งยืน เพราะถ้าเปลี่ยนเจ้านาย ชีวิตของเธอทั้งสองก็อาจจะเปลี่ยนไป อีกทั้งที่บ้านของเธอ พวกเธอก็ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ รวมถึงไร่นาที่นั่น หรือถ้าพวกเธอแต่งงานออกไป ก็ต้องไปใช้ชีวิตแบบใหม่ในสถานที่อื่น ทั้งสองคนบอกว่าพวกเธออยากมีวิชาชีพติดตัว เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า เสริมสวย ทำกับข้าว หรืองานฝีมือต่าง ๆ

เอมอรเอาเรื่องที่เด็กสาวทั้งสองคนพูดนี้มาบอกกับกับอมร แรก ๆ อมรก็ได้แต่อือ ๆ ออๆ เหมือนฟังเสียงลมที่ลอยผ่านออกไปจากหู แต่วันหนึ่งในระหว่างที่กำลังประชุมบริษัท ในวาระที่ปรึกษากันถึงโครงการของบริษัทที่จะต้องออกไปแจกผ้าห่มอีกครั้ง ก็มีกรรมการคนหนึ่งที่ดูแลเรื่องนี้ เอาข้อมูลมานำเสนอว่า โครงการนี้น่าจะอิ่มตัวหรือ “เฟ้อ” มากไปแล้ว เพราะมีการดำเนินการหลาย ๆ บริษัท รวมถึงส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น อีกทั้งคนรับก็มีการตอบรับที่ไม่ค่อยดี มีการเอาของปีหลัง ๆ ขาย เพราะชาวบ้านเขาใช้กันแค่เดือนสองเดือนที่หนาวมากๆ ถ้ารักษาดี ๆ ก็ใช้ได้หลายปี เพราะเดี๋ยวนี้ยังมีการแจกชุดเสื้อกันหนาว รวมถึงรับซ่อมแซมบ้านให้แน่นหนาป้องกันลมหนาวอีกด้วย บางทีชาวบ้านก็รับข้าวของและวัสดุก่อสร้างพวกนั้นไว้ แต่พอผู้บริจาคคล้อยหลังไปก็เอาไปขาย รวมทั้งที่เอาไปทำบุญถวายวัด

อมรนึกถึงเรื่องที่เด็กสาวสองคนที่ได้พูดกับเอมอรนั้นขึ้นมาทันที เขาเล่าเรื่องนั้นให้กรรมการบริษัทในที่ประชุมฟัง แล้วเสนอว่าอยากจะช่วยให้ผู้คนที่ยากไร้ขาดโอกาสเหล่านั้นได้มี “วิชาความรู้” เพื่อเอาไปประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงและมีชีวิตที่ก้าวหน้ายั่งยืน กรรมการทุกคนเห็นด้วย แล้วอมรก็มอบหมายให้คนที่เคยทำเรื่องแจกผ้าห่มนั้นเอาไปคิด ซึ่งในการประชุมครั้งต่อมาก็ได้รายละเอียดต่าง ๆ แล้วเสนอให้ทดลองทำเป็น “โครงการนำร่อง” สัก 2-3 จังหวัด

อมรอาศัยพรรคพวกที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยหาจังหวัดนำร่องให้ ปีแรกได้ 3 จังหวัด 6 โรงเรียน โดยเน้นโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนทุรกันดาร ให้แต่ละโรงเรียนนั้นคัดเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่จะต้องไปเรียนต่อชั้นมัธยม ที่มีฐานะยากจน โรงเรียนละ 4-5 คน เพื่อไปเรียนต่อที่โรงเรียนอาชีวะในเมือง ปรากฏว่าไปได้ดีเพียงปีแรก แต่ปีต่อมานักเรียนเหล่านั้นก็ไม่เรียนต่อและขอกลับบ้าน เพราะค่าใช้จ่ายในความเป็นอยู่ค่อนข้างสูง ทุนที่ได้ไม่พอใช้ แม้ว่าจะให้ไปแต่ละทุนเป็นจำนวนที่คำนวณแล้วว่าน่าจะพอเพียง บางโรงเรียนจึงขอทุนเป็นค่าอุปกรณ์การสอนของคุณครู ที่บางคนก็มีคุณวุฒิที่จะสอนวิชาชีพต่าง ๆ ได้ บางโรงเรียนก็จัดให้นักเรียนเรียนกับปราชญ์ท้องถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ ก็ช่วยลดปัญหาได้ดีพอสมควร ดังนั้นทุนที่บริษัทของอมรให้จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เพราะให้ตามที่แต่ละชุมชนต้องการเท่าที่จำเป็น เป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายร่วมกัน ทั้งนี้บริษัทของอมรได้ให้กรรมการหมู่บ้านรับผิดชอบในการบริหารโครงการ โดยมีฝ่ายอำเภอและท้องถิ่นเป็นผู้คอยกำกับอยู่ห่าง ๆ เพื่อไม่ให้ก้าวก่ายหรือแย่งชิงผลประโยชน์กัน ซึ่งได้กลายเป็นโครงการที่ได้ผลค่อนข้างดี เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เพราะนักเรียนที่มีวิชาชีพเหล่านั้นเมื่อเริ่มต้นอาชีพหลังเรียนจบแล้วก็ได้มาช่วยเหลือชาวบ้านแบบฟรี ๆ เสียส่วนใหญ่ รวมถึงที่ทุกคนก็หางานทำได้โดยง่าย และมีรายได้ที่เหมาะสม

แน่นอนว่าโครงการเช่นนี้ก็ต้องมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เป็นก็ปัญหาที่สามารถแก้ได้ และบางปัญหาก็นำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น รวมถึงที่ทำให้เกิดแนวคิดสืบต่อไปสู่โครงการใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนนั้นมากขึ้น สำหรับอมรและเอมอรในตอนแรกก็พยายามที่จะใช้ประโยชน์ในการโปรโมทตัวเขาทั้งสองผ่านโครงการนี้ เหมือนกันอย่างที่พวกคนดัง ๆ และคนใหญ่ ๆ โต ๆทั้งหลายชอบทำกัน แต่เมื่อได้ยินเสียงชาวบ้านและคนในท้องถิ่น “นินทา” พวกที่อยากเด่นอยากดัง (ที่จริงก็คืออยากได้หน้าได้ตา) ก็ทำให้เขาได้คิด และวางตัวแบบ “ปิดทองหลังพระ” ในเวลาต่อมา

อมรบอกผมว่า การปิดทองหลังพระนี้ทำให้ตัวเขาและเอมอรมีความสุขมาก เป็นความสุขที่เขาอยากเล่าให้คนที่คิดและทำอย่างเดียวกันได้รับรู้ร่วมด้วย เพื่อ “แบ่งปัน” และกระจายความสุขนี้ไปทั่วกัน