สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม 1 ใน 4 พิมพ์ ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม  นับเป็นพิมพ์ที่เรียกว่าเป็น ‘พระพิมพ์ปราบเซียน’ พิมพ์หนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นพิมพ์ที่ดูยากมากที่สุดในบรรดาพระสมเด็จด้วยกัน ต้องอาศัยการพิจารณาทั้งลักษณะเฉพาะและจุดตำหนิแม่พิมพ์ต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนในการตัดสินใจว่าเป็นพระแท้หรือพระเก๊

นอกจากนี้ จะต้องพิจารณากันอีกว่าเป็น พระวัดระฆังฯ หรือ วัดบางขุนพรหม เนื่องจากมีพิมพ์ย่อยของพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม ถึง 2 พิมพ์ ที่ไปเหมือนกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยเฉพาะถ้าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่ไม่มีคราบกรุ จะเหมือนกันมากจนแทบจะแยกแยะไม่ออกเลย ถ้าไม่มีความชำนาญระดับ “เซียน”

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม

ในการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม นอกเหนือจากเรื่องเนื้อหามวลสาร ลักษณะการตัดขอบ พื้นผิวขององค์พระ ร่องรอยปูไต่ เม็ดพระธาตุ และรอยรูพรุนเข็ม ตามแบบฉบับของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามทุกพิมพ์แล้ว ยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างไปกว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ อีก 3 พิมพ์อย่างชัดเจน คือ

เนื้อมวลสารจะมีส่วนผสมต่างๆ มากกว่า

ศิลปะแม่พิมพ์ค่อนข้างตื้นและสะโอดสะองไม่ล่ำสันเหมือนพิมพ์อื่นๆ

พระเกศเรียวแหลมและติดชัดมากกว่า

การสังเกตจุดชี้ตำหนิโดยรวมของพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม จะต้องใช้ความตั้งใจค่อยๆ ศึกษาพิจารณาจากภาพหรือองค์พระจริงก็คือ

- จากหัวไหล่ถึงวงแขนขององค์พระทอดวงโค้งอย่างงดงาม

- องค์พระประธานซึ่งนั่งขัดสมาธิเพชรนั้น ช่วงตรงกลางของสมาธิเพชรจะยุบเข้าเล็กน้อย แต่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะไม่มีรอยยุบ

- เส้นซุ้มครอบแก้วจะหนาและมีลักษณะเหมือนหวายผ่าซีกเช่นเดียวกับพิมพ์ใหญ่ ซึ่งพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะค่อนข้างเล็กกว่า

- พระกรรณด้านขวาขององค์พระห่างจากพระเศียรและส่วนบนโค้งออกด้านนอก ส่วนพระกรรณข้างซ้ายจะชิดกับพระเศียร

- แขนด้านขวาขององค์พระจะโค้งหักศอก แขนด้านซ้ายจะโค้งมากกว่าด้านขวา

- เส้นสังฆาฏิจะวิ่งเป็นเส้นเล็กยาวจดฝ่ามือและตื้นมาก บางองค์ที่พระติดไม่เต็มจะมองไม่เห็น

- บั้นเอวจะผายออก ไม่เหมือนพระวัดบางขุนพรหมซึ่งคอดเข้าเป็นรูปตัววี (V)

- เส้นแซมใต้ฐานติดไม่ชัดเจนเท่ากับพระวัดบางขุนพรหม

พระสมเด็จวัดบางขุนพพรม พิมพ์ฐานแซม

- เส้นฐานเส้นล่างสุดจะใหญ่ ขอบของหัวฐานเฉียงสู่ฐานล่าง เส้นฐานกลางจะเล็กที่สุด ขอบทั้งสองข้างมีปลายแหลมออกและเฉียงขึ้นบนตัดลงข้างล่างคล้ายขาโต๊ะที่เรียกว่า "ฐานหัวสิงห์"

- เส้นฐานบนสุดจะใหญ่กว่าเส้นกลางแต่เล็กกว่าเส้นล่าง ปลายทั้งสองด้านเป็นขอบตัดเฉียงขึ้นข้างบนค่อนข้างมนโค้งเข้าด้านในเล็กน้อย ดูเป็นธรรมชาติไม่แข็งทื่อ

- สัณฐานขององค์พระในองค์ที่ติดเต็มแม่พิมพ์ ด้านบนจะกว้าง ด้านล่างจะสอบเข้า

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม ยังสามารถแยกย่อยไปได้อีก คือ พิมพ์ด้านหน้า แบ่งได้เป็น 4 พิมพ์ มี พิมพ์ที่ 1, พิมพ์ที่ 2, พิมพ์ที่ 3 และพิมพ์ที่ 4 ซึ่งจะมีจุดชี้ตำหนิแม่พิมพ์ด้านหน้าที่แตกต่างกันไปแต่ละพิมพ์ดังนี้

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 1       

- พื้นนอกซุ้มครอบแก้วจะสูงกว่าพื้นในซุ้มครอบแก้วเล็กน้อย

- โคนพระเกศเป็นลำโตกว่าพิมพ์อื่นๆ

- มือที่ประสานกันจะเป็นรูปสามเหลี่ยมและชิดกับหน้าตัก

- ปรากฏเส้นสังฆาฏิเป็นแผ่นนูน

พระสมเด็จวัดบางขุนพพรม พิมพ์ฐานแซม

- หัวฐานชั้นที่หนึ่งด้านขวามือขององค์พระจะห่างจากซุ้มครอบแก้ว

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 2

- พระกรรณขวาขององค์พระจะไม่ชิดกับแก้ม ลักษณะปลายพระกรรณจะผายออกคล้ายบายศรี ส่วนพระกรรณข้างซ้ายขององค์พระจะชิดกับแก้ม

- ส่วนเอวและลำพระองค์ขององค์พระจะมีลักษณะผายออก

- หัวฐานชั้นที่หนึ่ง ทั้ง 2 ด้านจะห่างจากซุ้มครอบแก้ว

- ตรงมุมล่างด้านซ้ายขององค์พระ เส้นขอบแม่พิมพ์จะติดชิดกับเส้นซุ้มครอบแก้ว

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 3 จะมีลักษณะคล้ายพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม

- พระกรรณด้านขวาองค์พระจะเป็นเส้นตรงทั้ง 2 ข้าง

- ลำพระองค์เป็นทรงกระบอก

พระสมเด็จวัดบางขุนพพรม พิมพ์ฐานแซม

- หัวฐานชั้นที่หนึ่ง ด้านซ้ายขององค์พระจะติดกับซุ้มครอบแก้ว

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 4 จะมีลักษณะคล้ายพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่

- พระกรรณข้างขวาขององค์พระจะอยู่ห่างจากแก้มและเป็นเส้นตรง

- พระเกศเรียวเล็กและยาวกว่าพิมพ์ที่ 1

- เส้นซุ้มครอบแก้วจะหนาและใหญ่

- แขนหักศอกจะตั้งฉากทั้งสองข้าง

เปรียบเทียบพระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม วัดระฆังฯ และวัดบางขุนพรหม ​​​​​​​

ส่วน พิมพ์ด้านหลัง มีเพียง 3 พิมพ์เท่านั้น คือพิมพ์หลังสังขยา พิมพ์หลังแผ่นเรียบ และพิมพ์หลังกระดาน เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แต่ไม่มี “หลังกาบหมาก” ดังนั้นการพิจารณาจึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งพิมพ์ด้านหน้าและด้านหลังให้ดีๆ บางครั้งพิมพ์ด้านหน้าเรียกว่าใกล้เคียงมาก แต่ถ้าพิมพ์ด้านหลังไม่ใช่ละก็ ต้องถือว่าเป็นพระเก๊แน่นอนครับผม