เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566  นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริตนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จึงนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษา และดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในคำสั่งฯ วันนี้  ( 27 ต.ค.) ตามมาตรา 32 วรรค 2 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในการจัดทำมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ 

 

โดยมีรายชื่อคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต จำนวน 31 คน มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานกรรมการ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการ จำนวน 23 คน  มีหน้าที่และอำนาจรวบรวม และดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เสนอความเห็นเพื่อให้มีการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หน่วยงานภายนอกและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการศึกษาข้อมูล เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการคณะนี้กำหนดและเห็นสมควร การดำเนินการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

 

“ คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะเน้นการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักความเป็นกลาง รอบคอบ รอบด้าน และเป็นธรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต อันอาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”