เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 เวลาประมาณ 20.15 น. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เดินทางมาต้อนรับและให้กำลังใจนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ที่ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตามโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีระดับ ปวส. สาขาพืชศาสตร์ ระบบทวิภาคี ไทย-อิสราเอล ร่วมกับ Arava International Center for Agricultural Training : AICAT ประจำปี 2566 รุ่นที่ 24 เป็นระยะเวลา 10 เดือน จำนวน 71 ราย ที่เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐอิสราเอล โดยเดินทางกลับก่อนกำหนดจบโครงการเนื่องจากเหตุความสงครามสู้รบระหว่างอิสราเอลกับ ฮามาส พร้อมด้วยนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฎิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขานุการ รมช.ศธ.) นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการอาชีวศึกษา ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ด้วย รมว.ศธ.มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักศึกษา จึงได้มอบหมายให้ดูแลและติดตามความเป็นอยู่ของนักศึกษากลุ่มนี้ที่ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพตามโครงการความร่วมมือฯ จำนวน 78 ราย พร้อมให้นักศึกษาแจ้งความประสงค์กลับประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ประสานงานการเดินทางให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีนักศึกษาประสงค์เดินทางกลับและได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครอง จำนวน 71 ราย และล่าม 1 คน รวม 72 คน  เดินทางกลับด้วยสายการบิน El Al Israel Airlines หมายเลขเที่ยวบิน LY83 แบ่งเป็น นักศึกษา วษท. ร้อยเอ็ด 24 คน วษท. มหาสารคาม 24 คน วษท. ศรีสะเกษ 21 คน วษท. ราชบุรี 2 คน  ซึ่งเมื่อรวมกับนักศึกษาที่เดินทางกลับเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จำนวน 7 คน จะถือว่านักศึกษาไทยทั้งหมดจำนวน 78 คน ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ได้มีการฝากฝังให้วิทยาลัยจัดการเรียนการสอนต่อไป หากสถานการณ์เป็นปกติ ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งนักเรียนกลับไปทำงานต่อ โดยในระหว่างนี้จะให้นักศึกษาเรียนอยู่ที่ไทยจนจบหลักสูตร ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนในรุ่น 25 ซึ่งเป็นรุ่นต่อไป จะต้องประเมินสถานการณ์ในอิสราเอลก่อน โดยมีแนวคิดยึดความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นหลัก