จากกรณีโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ประสบปัญหาอาคารชำรุด เสาอาคารแตกร้าว และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนรวมถึงบุคลาการในสถานศึกษา จึงสั่งการให้มีการสำรวจอาคารในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งาน ในเรื่องนี้

วันที่ 31 ต.ค.2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สพก.จชต.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าโรงเรียนนี้ประสบปัญหาอาคารเรียนชำรุดจริง โดยได้ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทน ไปยังสพป.ยะลา เขต 1 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบ และได้ขอรับการจัดสรรงบและปรับปรุงอาคารต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ อาคารเรียนหลังใหม่ ขนาด 4 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ปรับปรุงห้องพักครู และปรับปรุงโรงอาหาร เป็นต้น

สำหรับโรงเรียนดังกล่าว เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงชั้น ป.6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 244 คน มีอาคารเรียน จำนวน 3 หลัง ในส่วนของอาคารที่ชำรุด เป็นอาคารเรียนของนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 26 คน โดยการดำเนินการเบื้องต้น ได้ทำการย้ายนักเรียน ชั้น ป.1 ทั้ง 26 คน ไปเรียนในอาคารเรียนอีกหลังซึ่งเดิมเป็นห้องพักครู และให้ครูไปประจำห้องเรียนต่างๆ พร้อมทำการปิดกั้นพื้นที่บริเวณอาคารเรียนที่ชำรุด ไม่ให้นักเรียนเข้าไปใช้หรือเข้าไปเล่นในอาคารนั้น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากร โดย สพป.ยะลา เขต 1 ได้เร่งอนุมัติรื้อถอนอาคารเรียนหลังดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเมื่อได้รับสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แล้ว ก็จะดำเนินการก่อสร้างตามลำดับต่อไป

“ความปลอดภัยของสถานศึกษา เป็นสิ่งที่ สพฐ. ให้ความสำคัญ จากกรณีที่ปรากฏในข่าว ได้มอบหมายให้เขตพื้นที่เข้าไปดูแลในทันที จัดหาอาคารเรียนให้เพียงพอและเร่งประสานให้มีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่โดยไว ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ห่วงใย ขอให้วางใจว่าเราจะดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ สำรวจความปลอดภัยและความชำรุดเสียหายของอาคารเรียน และแจ้งผลการสำรวจแก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างซ่อมแซม ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อรับประกันกับ นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ว่าสถานศึกษาจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เด็กๆ สามารถมาเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว