นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากของไปรษณีย์ไทยเนื่องด้วยวาระครบรอบ 140 ปีกิจการด้านการสื่อสารและขนส่งของชาติ และยังครบรอบปีที่ 20 การแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีบริการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฉลองการครบรอบวาระดังกล่าวกระทรวงดีอีเอสโดยไปรษณีย์ไทยจึงได้เตรียมจัดงานใหญ่เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงวิวัฒนาการกิจการของชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวล้ำของไปรษณีย์ไทยที่ทันสมัย สอดรับกับชีวิตยุคดิจิทัลในงาน "POSTiverse : ส่งความสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566" ซึ่งมีความพิเศษอย่างมากในทุกแง่มุม เช่น ความเป็นศิลปะในระดับเวิลด์คลาส การกระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์ – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเติมเต็มโอกาสและความสุขให้คนไทยด้วยไปรษณีย์ไทย ตลอดจนสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยากที่จะถูกจัดแสดงในบิ๊กอีเว้นท์นี้

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกเหนือการจัดงานกระทรวงดีอีเอสยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากการลงทุนคือการใช้ประสบการณ์ของหน่วยงานในสังกัดเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ - สังคมให้ทัดเทียมกับสากล โดยไปรษณีย์ไทยเป็นหนึ่งในกลไกที่กระทรวงฯ ตั้งเป้านำประสบการณ์กว่า 140 ปี มากระตุ้นโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งให้ไปรษณีย์เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่เติมเต็มความเชื่อมั่นด้านดิจิทัลทั้งภาพความเป็นรัฐบาลดิจิทัลจากการมีข้อมูลเครือข่าย ผู้ใช้บริการ ข้อมูลทางตลาดที่ภาคธุรกิจสามารถวางใจใช้การขนส่งได้ทั้งระบบ ความอัจฉริยะและความปลอดภัยในด้านตัวตนของคนไทย 70 ล้านคนจากการริเริ่มใช้ Digital ID การพลิกโฉมงานเอกสารออนไลน์ทั้งประเทศที่จะเริ่มใช้อย่างกว้างขวางในปี 2567 นี้ รวมไปถึงการเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาเติมเต็ม Smart City จากการเป็นสื่อสารและขนส่งที่อัจฉริยะขึ้น ตอบโจทย์ได้ทุกตามความต้องการและความยั่งยืน

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า การจัดงาน POSTiverse : ส่งสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก เป็นการสะท้อนบทบาทไปรษณีย์ไทยที่มีต่อการสื่อสารและขนส่งของชาติมาตลอด 140 ปี โดยความหมายของ POSTiverse เปรียบเสมือนจักรวาลที่รวมเอาความทรงจำปัจจุบันและทิศทางอนาคตของไปรษณีย์ไทยไว้ในงานเดียว อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองใหม่ ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่คนไทยอาจยังไม่เคยได้สัมผัสและหาชมได้ยาก ได้แก่

•  นิทรรศการ "เจ้าฟ้านักสะสม" นำเสนอนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ "เจ้าฟ้านักสะสม" ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งห้องจำลองสิ่งสะสม/ แสตมป์สะสมส่วนพระองค์ อีกทั้งยังมีแม่พิมพ์แสตมป์ชุดแรกของไทย "ชุดโสฬศ" และแม่พิมพ์ไปรษณียบัตรชุดแรกจากกรมธนารักษ์ อายุ 140 ปีที่หาชมที่ไหนไม่ได้

•  POST Gallery 5 โซน ได้แก่ Verse of Love 140 ปีที่อยู่ใกล้เธอ  บอกเล่าเรื่องราว 140 เรื่องดีต่อใจ ที่อยากเล่าให้ฟังใน 14 หมวด อาทิ  ของแปลกที่พี่ไปรฯ ส่ง จ่าหน้าพัสดุสุดโต่ง Verse of Legend 140 ปีมีตึกนาน บอกเล่าเรื่องราวของตึกที่มีตํานานก่อนจะมาเป็นไปรษณีย์กลาง บางรัก Verse of Origin 140 ปีมีที่มา – บอกเล่าเรื่องราวต้นฉบับสุดคลาสสิคที่ไปรษณีย์ไทยทํามาก่อนใคร เช่น บ้านเลขที่กําเนิดจากการตั้งกิจการไปรษณีย์ ไปรษณีย์ที่เคยส่งอาหารมาก่อน การให้บริการโทรคมนาคมรายแรก ไปรษณีย์เคยทําธุรกิจธนาคาร Verse of Memory 140 ปีมีความทรงจําเจาะลึก เรื่องราวตึกไปรษณีย์กลางบางรัก ที่เป็นไฮไลต์ของย่านเจริญกรุงที่แต่ละจุดมีความหมายและความทรงจําให้ติดตาม และ Verse of Next 140 ปี สู่อนาคต เรื่องราวของการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยโครงข่ายไปรษณีย์ไทย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งรูปแบบ Physical Network และ Digital Network เช่น Postman Cloud, ThailandPostMart, Prompt Post, Digital Post ID, NFT Stamp

•  กิจกรรมสุดสร้างสรรค์เพื่อทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม 14 Stamp Hunting  ตามล่าหาตราประทับจาก 14 จุด Highlight ภายในงาน ซึ่งหากตามล่าตราประทับครบตามที่กำหนดจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษ กิจกรรม Dear Future Me ออกแบบและเขียน Postcard ถึงตัวเองในอนาคตซึ่งสามารถกำหนดช่วงเวลา และเรื่องราวที่อยากส่งถึงตัวเองในปีหน้า กิจกรรม Workshop เพ้นท์กระเป๋าผ้า เรียนรู้การจัดดอกไม้แบบง่ายกับนักจัดดอกไม้มืออาชีพ มินิคอนเสิร์ต จากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล และศิลปินดูโอ้ Serious Bacon และ fellow fellow Market Zone  ร้านเด็ดเอาใจสายกินกว่า 40 ร้าน

•  สินค้าจำหน่ายสุดพิเศษ ได้แก่ แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ตราไปรษณียากร ชุด 1 ชนิดราคาโสฬศ อัฐ เสี้ยว ซีก และชุด 2 แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ตราไปรษณียากร ชุด 2 ชนิดราคาเฟื้องหนึ่ง และสลึงหนึ่ง แสตมป์ "เจ้าฟ้านักสะสม"  เป็นพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายกับตู้ไปรษณีย์ ในวาระสำคัญต่างๆ ของไปรษณีย์ไทย แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 ชุด 1 และชุด 2 ออกแบบโดยศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานการออกแบบสินค้าให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ในรูปแบบ Booklet โดยยังนำมาต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึก เช่น กระบอกน้ำเก็บความเย็น ร่ม กระเป๋าผ้า ผ้าคลุมไหล่ จานเซรามิก คอลเลกชันอาร์ตทอย 13 แบบโดยศิลปินจาก Art Toys Thailand และ Secret Collection 1 แบบ ที่ออกแบบโดยทีม "ไปรฯ ดีมาดี" นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมแข่งขัน J-MAT Brand Planning Competition #2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างสรรค์อาร์ตทอยเป็นคาร์แรคเตอร์ที่เกี่ยวกับไปรษณีย์ โดยทั้ง 14 แบบนี้มาในรูปแบบโมเดลกาชาปองแบบสุ่มขนาดเล็ก 1 - 2 นิ้ว ในราคาสุ่มละ 299 บาท และมีจัดจำหน่ายแบบครบชุด 14 แบบ จำนวนจำกัดเพียง 20 ชุด ในราคา 5,399 บาท รวมทั้งอาร์ตทอยขนาดพิเศษ 9 - 23 ซม. จำนวน 13 แบบ แบบละ 20 ตัว ในราคาตัวละ 2,999 บาท และ 4,999 บาท

"การจัดงานที่ไปรษณีย์กลางบางรัก พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยในทุกยุคทุกเวลา ต้องการให้คนไทยได้เห็นถึงศักยภาพและตัวตนของไปรษณีย์ไทยในฐานะที่เป็นได้ทั้งผู้สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ ป็อปคัลเจอร์ สามารถเนรมิตความครีเอทีฟต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถร่วมสนุกได้อย่างจุใจ ทั้งการถ่ายรูป การทำคอนเทนต์ และยังครอบคลุมไปถึงการทำให้ทุกคนและไปรษณีย์ไทยได้ผลักดันสิ่งใหม่ ๆ ในอนาคตร่วมกัน"

นายสุรจิตร ก้องวัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า งานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566 เป็นครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งงานนี้เปรียบเสมือนงานโอลิมปิกแห่งวงการแสตมป์ที่นักสะสมแสตมป์ทั่วโลกให้ความสนใจ คาดว่าการจัดงานจะช่วยให้ผู้คนเห็นคุณค่าและมูลค่าของแสตมป์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของมูลค่านั้นจะได้เห็นทั้งจากแสตมป์ที่แพงที่สุดของโลก และแพงที่สุดในเอเชีย รวมถึงความครีเอทีฟใหม่ ๆ ที่จะทำให้แสตมป์ยังคงอยู่และกลายเป็นธุรกิจ สินค้า หรืออื่น ๆ ที่ยังมีมูลค่าในอนาคต

"สำหรับไฮไลต์งานแสดงตราไปรษณียากรโลกคือแสตมป์สีม่วงแดง 1 เซ็นต์บริติชกีอานา ปี 1856 จากประเทศบริติช กายอานา ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และแสตมป์มังกร 500 Mon (พิมพ์กลับหัว) ปี 1871 จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงที่สุดในทวีปเอเชีย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโซนจัดแสดงตราไปรษณียากรหายาก ผลงานการประกวดตราไปรษณียากรจากนักสะสมทั่วโลก กว่า 60 ประเทศประมาณ 2,500 แผงประกวด การประมูล – การเสวนาความรู้ ในการสะสมแสตมป์จากนักสะสมแสตมป์ชั้นนำระดับโลก  มีการไปรษณีย์จากชาติต่างๆ มาร่วมงานและออกร้าน รวมกว่า 50 ร้าน สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นคือกิจกรรมการเสวนาความรู้ในการสะสมแสตมป์ที่ให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญไทยและระดับโลก ซึ่งจะทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงการมีอยู่ของแสตมป์และสิ่งที่จะดำเนินไปในอนาคต"