สัปดาห์พระเครื่อง /อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

ในราวปี 1,250-850 ก่อนคริสตกาล อุบัติขององค์พระพิฆเนศดูจะโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "เทวปกรณัม"

ดินแดนที่เรียกว่า "เอเชียใต้" ในอดีตรู้จักกันในนาม "อนุทวีป" หรือ "อินเดีย" ซึ่งเป็นจุดก่อกำเนิดของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำ ประกอบด้วยลุ่มแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และเป็นที่ก่อกำเนิดอารยธรรมยิ่งใหญ่แต่โบราณที่รู้จักกันในชื่อ "อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ" (Indus Civilization) ของชนพื้นเมืองที่เรียกว่าพวก "ทราวิฑ" หรือ "Dravidian" ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อพวก มิลักขะ หรือ มิลักขู ตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่ชาวอารยัน "Aryan" ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ Indo-European จะเข้ามาสถาปนาอำนาจและความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ในราว 1,500 ปี ก่อนคริสตกาล

จากการขุดค้นซากเมืองโบราณ คือ เมือง ฮารัปปา (Harrappa) ในแคว้นปัญจาบ และเมืองโมหันโจ ดาโร (Mohenjo Daro) ในแคว้นสินธุ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยผู้นำคณะขุดค้นคือ เซอร์จอห์น โรเบิร์ต มาร์แชล (Sir John Robert Marshall) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1922-1923 เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การพบหลักฐานทางวัฒนธรรม และความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ก่อนการเข้ามาของชาวอารยันว่ามีลักษณะเฉพาะ อันได้แก่ การนับถือเทวสตรี, การนับถือต้นไม้, การนับถือเทพกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์, การนับถือสัตว์, การนับถือเทพประจำธรรมชาติ เช่น เทพแห่งสายฟ้า, เทพแห่งสายลม, เทพแห่งสายฝน, เทพแห่งไฟ, เทพแห่งดวงอาทิตย์ หรือเทพแห่งพายุ เป็นต้น

ชนพื้นเมืองในอินเดีย ประกอบไปด้วยผู้คนมากมายหลายกลุ่ม อาจกล่าวได้ว่า ดินแดนอนุทวีปเป็นที่รวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างยากที่จะหาที่ใดเสมอ เหมือน แต่แม้จะแตกต่างกันทางเผ่าพันธุ์ หากลักษณะร่วมทางความเชื่อซึ่งเป็นรากฐานของสังคมยังคงมีรูปแบบเฉพาะเช่นชน พื้นเมืองทางตอนใต้แม่น้ำสินธุลงมา บางกลุ่มให้ความสำคัญกับช้าง โดยเฉพาะ "ช้างป่า" มีหลักฐานแสดงถึงการบูชาเจ้าแห่งช้างในกลุ่มชนพื้นเมืองทางใต้ของอินเดีย ตั้งแต่ยุคโบราณ ต่อเมื่ออารยธรรมของชาวอารยันลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง การประนีประนอมระหว่างความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อพื้นเมืองจึงเกิดขึ้น โดยการนับเรื่อง "เทพแห่งธรรมชาติ" เข้าเป็นเทวะแห่งศาสนาพราหมณ์ เช่น กำหนดให้พระอินทร์เป็นเทพแห่งสายฟ้า พระวายุหรือพระพายเป็นเทพแห่งสายลม พระพิรุณเป็นเทพแห่งสายฝน และพระอัคนีเป็นเทพแห่งไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการผูกความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะ "การนับถือสัตว์" เช่น ช้าง วัว งู เข้าเป็นเทพสมาชิกอันมีกำเนิด หรือเป็นเทพบริวารของเทพชั้นสูงในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏตั้งแต่ยุคพระเวท และยุคมหากาพย์เรื่อยมา

การปรากฏของ "พระพิฆเนศ" ในยุคพระเวท และยุคมหากาพย์

ยุคพระเวท เริ่มต้นประมาณ 1,500-1,250 ปีก่อนคริสตกาล เผ่าอารยัน (Aryan) ได้สถาปนาศาสนาพราหมณ์ และรุกไล่พวกทราวิฑ จนถอยร่นจากที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุลงไปทางตอนใต้ และเริ่มกำหนดระเบียบปฏิบัติผ่านคัมภีร์ทางศาสนาที่รู้จักกันในชื่อ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และเพิ่ม อาถรรพเวท ขึ้นอีกในภายหลัง คำว่า "คณปติ" ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นใหญ่กว่าผู้ใด มีผู้สันนิษฐานว่าอาจหมายถึงองค์พระพิฆเนศ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในมนตราสาธยาย ปริเฉทที่ 2 ของคัมภีร์ "ฤคเวท" ซึ่งเป็นคัมภีร์สรรเสริญฤทธานุภาพของเทวะ และธรรมชาติ รวมทั้งกล่าวถึงกำเนิดและการสร้างโลก ใน "ฤคเวท" ได้ถือว่าองค์พระพิฆเนศเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือบูชาสัตว์ประจำเผ่า (Totemism) ที่สืบทอดจากโบราณ นอกจากนี้ ในบทสวด "ตัยตะตริยะ-อรัญกะ" ของคัมภีร์พระเวท ได้เอ่ยนาม "ทันต์ตินะ" แปลว่า ผู้มีงา อันหมายถึงองค์พระพิฆเนศด้วย และเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในเหล่าทวยเทพขององค์พระอิศวร เทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาพราหมณ์ ร่วมกับเทพที่มีลักษณะเป็นสัตว์อื่นๆ

ภายหลังยุคพระเวท เมื่อชนเผ่าอารยันขยายอำนาจไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา อินเดียก้าวเข้าสู่ยุคมหากาพย์ อันประกอบไปด้วยมหากาพย์ รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตยุทธ ซึ่งอยู่ในราว 1,250-850 ก่อนคริสตกาล อุบัติขององค์พระพิฆเนศดูจะโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "เทวปกรณัม" ในมหาภารตยุทธ กล่าวถึงฤๅษีวยาสะได้ขอร้องให้พระพิฆเนศเป็นผู้จดมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่เรื่อง นี้ ซึ่งนับรวมได้ถึง 100,000 โศลก หรือ 220,000 บรรทัด โดยเหตุที่พระพรหมทรงแนะนำว่า องค์พระพิฆเนศเป็นผู้เปรื่องปราด และเชี่ยวชาญทางด้านศิลปศาสตร์ต่างๆ อันรวมการประพันธ์เอาไว้ด้วยครับผม