พระบารมีปกเกล้าฯ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : พระมหากษัตริย์ที่ทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรบนแผ่นดินไทย (๑) ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงมีพระราชหฤทัยเอื้ออาทรห่วงใยผูกพันอย่างลึกซึ้งกับพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาค ทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้นประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง พระองค์ทรงงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ดีขึ้นในทุกด้าน พระราชกรณียกิจ พระจริยวัตรและพระเมตตาที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่สายตาพวกเรา พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการอเนกอนันต์แก่ประชาชนและประเทศชาติและมีความหมายต่อพสกนิกรมากเกินกว่าจะคณานับได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาล (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น รัฐเมสสาชูเขตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพระชนมายุได้ ๕พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีกรุงเทพมหานคร ต่อจากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ และในปี๒๔๗๘ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลชานน์ ต่อมาในปี๒๔๘๑ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทย และเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๙เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขาวิชารัฐศาสตร์แทนสาขาวิศวกรรมศาสตร์เนื่องด้วยทรงคำนึงถึงพระราชภารกิจในการปกครองประเทศเป็นสำคัญ ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ต่างประเทศนั้น ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิตติ์กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากรเมื่อวันที่ ๑๙กรกฎาคม ๒๔๙๒ และได้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสขึ้นในปี ๒๔๙๓และสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้เข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวังภายหลังจากพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทำการรักษาพระสุขภาพอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ตามคำแนะนำของแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ และเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี ๒๔๙๔ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนทั้งชาติ ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกรบนผืนแผ่นดินไทย ดังเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมา แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั้งแผ่นดินให้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร ไม่ว่าจะเชื้อชาติและศาสนาใด หรืออยู่ห่างไกลสักเพียงใดก็มิทรงย่อท้อ ทรงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน รวมทั้งในด้านอื่นๆ อีกมากมาย โดยทรงดำเนินงานตามหลักการทรงงาน ที่เป็นไปในลักษณะทางสายกลางสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทยและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” เป็นที่ตั้ง ด้วยทรงตระหนักว่า “คน” นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนา ประเทศชาติ ดังจะเห็นได้จากหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการระเบิดจากข้างใน ซึ่งเป็นหลักการที่ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน โดยทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียตัวหรือตั้งตัว ในฉบับต่อไป กระผมขออัญเชิญและนำเรียนทุกท่านเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่ทรงสร้างรากฐานเพื่อพสกนิกร ซึ่งกระผมจะขออัญเชิญสู่การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทโดยเน้นพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษา การศาสนา การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณี การอนุรักษ์ป่าไม้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ดิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานทดแทนการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ขอน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ กระผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านน้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ตลอดจนทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด ร่วมกันคิดดี ทำดีเพื่อสังคมพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างสมดุล ยั่งยืน ตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ