เริ่มแล้วอย่างยิ่งใหญ่ งานแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทาน เรือทั่วทุกสารทิศกว่า 20 ลำ ร่วมชิงชัยจ้าวยุทธจักรลำน้ำมูล แม้ปีนี้ระดับน้ำมูลสูงกว่าทุกปี ชมขบวนเทิดพระเกียรติ อัญเชิญถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่ชุมชน 3 เผ่า ขบวนนางรำ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วสารทิศกว่าครึ่งหมื่น แห่ชมคึกคัก คาดเงินสะพัดตลอดงานหลายสิบล้านบาท

  เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ลำน้ำมูล ณ ลำน้ำมูล บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี  หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  เป็นประธานเปิดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประจำปี 2566 ซึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อำเภอสตึก เทศบาลตำบลสตึก ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านในอำเภอสตึก ได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 อย่างยิ่งใหญ่

แม้ว่าในปีนี้ จ.บุรีรัมย์ น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก มีระดับน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวในปีนี้ ได้จัดสืบทอดต่อกันมาช้านาน เพื่ออนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น แต่งดการแข่งขันช้างว่ายน้ำข้ามลำน้ำมูล ระหว่างช้างจังหวัดบุรีรัมย์กับช้างจังหวัดสุรินทร์ 

  โดยมีขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทาน ขบวนแห่ชุมชน 3 เผ่า ขบวนนางรำ ซึ่งบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวจังหวัดบุรีรัมย์เป็นการสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของท้องถิ่น

สำหรับในปีนี้มีเรือยาวจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 27 ลำ ร่วมประชันฝีพาย ประกาศศักดาชิงจ้าวความเร็วแห่งลำน้ำมูล แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทเรือไม้ ก ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 55 ฝีพาย จำนวน 8 ลำ ประเภทเรือไม้ ข ขนาดกลางไม่เกิน 40 ฝีพาย จำนวน 8 ลำ ประเภทเรือท้องถิ่น เรือโลหะไม่เกิน 36 ฝีพาย จำนวน 11 ลำ มีที่เดียวของประเทศไทย ซึ่งการแข่งขันทั้งสามประเภทเรือชิงถ้วยพระราชทาน พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 5 แสนบาท 

นอกจากนี้ ยังมีมหรสพรื่นเริงต่างๆ การจัดการแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากทุกท้องถิ่น ของกินของดีเมืองสตึก ให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อไปเป็นของฝาก และของที่ระลึก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน และผู้ผลิตสินค้าโอท็อปได้เป็นอย่างดี 

นายวีรวิชญ์ พีรยศพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลสตึก กล่าวว่า ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสื่อที่อธิบายถึงความเป็นมา ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ เมืองวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ และเป็นมรดกของชาวอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต ที่แสดงถึงการใช้ประโยชน์จากเรือและแม่น้ำ เป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรม แม้ปัจจุบันการสัญจรทางเรือจะมีน้อย แม่น้ำก็ยังเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอีกมากมายหลายด้าน เช่น การเกษตร การประมง และการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ขอให้ช่วยกันอนุรักษ์เพื่อประโยชน์สำหรับพี่น้องตลอดไป   

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คน ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัด ตลอดการจัดงานแข่งขันเรือยาว ประเพณี จ.บุรีรัมย์ ในปีนี้จำนวนหลาย 10 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมเที่ยวชมงานประเพณีแข่งเรือยาว จ.บุรีรัมย์ ณ ลำน้ำมูล หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ โดยรอบชิงชนะเลิศ จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. นี้