หอการค้าฯลงนาม MOU ประสานเขื่อมโยงเครือข่ายรับแรงงานเกษตรไทยในอิสราเอล หวังยกระดับสร้างเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เข้าประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของแรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลกว่า 3 หมื่นราย และส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคการเกษตร โดยปี 2566 ประเทศไทยส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอลกว่า 6,500 คน (ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และเป็นกลุ่มแรงงานภาคเกษตรที่มีศักยภาพในระดับสูงเนื่องจากได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีการเกษตร จากผู้ประกอบการและนายจ้างในประเทศอิสราเอลที่ถือเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก 

ทั้งนี้ด้วยเหตุนี้ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือแรงงานไทยภาคการเกษตรที่มีความรู้ ความสามารถ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดการจ้างงานของไทย และถือเป็นการช่วยถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยในระยะถัดไป จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน ธ.ก.ส. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดเตรียมแผนความพร้อมในการดูแลคนไทยกลุ่มแรงงานเกษตรที่อพยพกลับจากอิสราเอล ผ่านการดำเนินงานภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น” ซึ่งจะมีการพิจารณาแรงงานเข้าร่วมโครงการฯ จากทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความต้องการ แบ่งเป็น 3 แนวทางตามความสมัครใจ ได้แก่ 1) ปั้นสู่ครูพี่เลี้ยง 2) ป้อนสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร  และ 3) ปูทางอาชีพสู่บ้านเกิด เป็นต้น

นายสนั่น กล่าวอีกว่า หอการค้าไทย เล็งเห็นถึงโอกาสในการนำความรู้และประสบการณ์ของแรงงานเกษตรกลุ่มนี้มาปรับใช้ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตร โดยจะเชื่อมโยงแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการเข้าสู่การจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทสมาชิกของหอการค้าฯ อาทิ บ.มิตรผล บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CP) บ.สยามคูโบต้า ฯลฯ รวมถึงบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศ 76 จังหวัด ซึ่งส่วนนี้เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งพร้อมเดินทางกลับประเทศ และสามารถมีอาชีพและรายได้ที่สูงตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป