ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ความรักไม่ว่าในรูปแบบใด แท้จริงนั้นก็มีรักเพื่อมีชีวิตรอดด้วยกันทั้งสิ้น

ตอนที่ผมยังทำงานเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย มีช่วงหนึ่งที่ผมอยากทำงานให้กับคนอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราเรียกว่า “งานบริการสังคม” จึงไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสโมสรของมหาวิทยาลัยและกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้บริการช่วยเหลือสมาชิกซึ่งก็คือบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านสวัสดิการ การดูแลสุขภาพ สันทนาการ และชีวิตความเป็นอยู่ต่าง ๆ ทำให้ได้คลุกคลีกับบุคลากรจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ได้รับรู้ทุกข์สุขของคนเหล่านั้นเป็นอย่างดี แม้แต่เรื่องร่ำลือต่าง ๆ ก็ได้รับรู้มาพอสมควร

มีเรื่องที่เขาลือกันเรื่องหนึ่งที่อาจจะดูแปลกประหลาดในความเข้าใจของคนจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องของความรักที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ แม้จะเป็นความรักระหว่างชายกับหญิงคู่หนึ่ง แต่ชายคนนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้ชาย เช่นเดียวกันกับที่หญิงคนนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้หญิง คือเป็นความรักแบบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แต๋วรักทอม” นั่นเอง โดยที่คนที่เป็นแต๋วนั้นเป็นผู้ชายชื่อ “กมล” ส่วนหญิงที่เป็นทอมนั้นชื่อ “กมลา”

ผมได้ยินเรื่องของคนทั้งสองตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่มาทำงานในมหาวิทยาลัย เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนักเพราะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปร่วมค่อนแคะนินทาคนทั้งสอง อย่างที่มีคนจำนวนหนึ่งชอบเอามาคุยให้เป็นเรื่องตลกขบขัน แต่พอผมได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ หน้าที่อย่างหนึ่งก็คือให้เงินกู้กับสมาชิก โดยถ้าเป็นสินเชื่อเพื่อซื้อหรือซ่อมที่อยู่อาศัย สมาชิกต้องยื่นขอกู้พร้อมกับระบุหลักทรัพย์ที่เป็นบ้านที่จะซื้อหรือซ่อมนั้นเพื่อค้ำประกันและอนุมัติเงินกู้ จากนั้นสหกรณ์ก็จะให้กรรมการสองคนไปตรวจสอบหลักทรัพย์ถึงสถานที่ แล้วกลับมาทำรายงานประกอบการอนุมัติเงินกู้ของคณะกรรมการเงินกู้ของสหกรณ์นั้นต่อไป

กมลาเป็นผู้ยื่นกู้โดยใช้ที่ดินในชื่อของคนทั้งสองคือมีกมลร่วมด้วยอีกคนนั้นมายื่นขอกู้ ตอนแรกคณะกรรมการก็ถกเถียงกันว่าทำไมทั้งสองคนไม่ยื่นขอกู้ร่วมกัน ในที่ประชุมก็มีกรรมการคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เขาให้สามีเป็นผู้ยื่นกู้ก็ถูกต้องแล้ว เพราะสามีต้องรับผิดชอบต่อภรรยา ที่ประชุมก็หัวเราะครืน แล้วก็มีคนอธิบายแบบแซว ๆ ว่า กมลานั่นแหละคือสามีของกมล ก่อนที่ประธานของที่ประชุมจะตัดบทแล้วให้กลับเข้าสู่วาระการประชุม ที่สุดก็มีการมอบหมายให้ผมกับคณะกรรมการอีกคนหนึ่งไปตรวจสอบหลักทรัพย์คือที่ดินของทั้งคู่นั้น

การไปตรวจสอบหลักทรัพย์ถือว่าเป็นภาระของผู้ยื่นกู้ที่จะต้องจัดหาพาหนะหรือให้ค่าพาหนะกับคณะกรรมการที่ไปตรวจสอบ รวมถึงถ้าต้องไปในต่างจังหวัดไกล ๆ ก็จะต้องมีค่าที่พักและค่าอาหารตามอัตราที่สหกรณ์กำหนดอีกด้วย (แต่ก็ยังดีกว่าการกู้ธนาคาร นอกจากจะเสียดอกเบี้ยแพงๆ และไม่เท่ากันแล้ว หลาย ๆ แห่งยังต้องเสียเงิน “ปากถุง” นัยว่าเป็นสินน้ำใจเพื่อการอนุมัติเงินกู้จะได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งธรรมเนียม “แย่ ๆ” แบบนี้ได้แอบทำกันในสหกรณ์ของหน่วยงานราชการบางแห่งอยู่ด้วย จนมีข่าวและดำเนินคดีกันไปเมื่อในอดีตนั้น) โดยที่ดินของกมลและกมลาอยู่จังหวัดปทุมธานี จึงสามารถออกเดินทางได้ในตอนสาย ๆ ของวันราชการ แล้วก็เดินทางกลับในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้น

ในวันรุ่งขึ้นก็มีการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ โดยมีวาระการขอกู้หลายราย ทุกรายเมื่อกรรมการที่ไปตรวจแจ้งรายงานที่ไปตรวจสอบมาเรียบร้อยก็ได้รับการอนุมัติทุกราย แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์โทรศัพท์ไปบอกและมีหนังสือแจ้งให้เป็นทางการตามไปอีกที เพื่อให้ผู้ยื่นกู้มาทำเรื่องการกู้ให้เรียบร้อยและรับเงินเพื่อไปใช้จ่ายตามที่ขอมานั้นต่อไป ทั้งนี้ในรายงานการตรวจสอบก็จะมีหมายเหตุของกรรมการแนบไว้ด้วยเสมอ เช่น ระยะทางที่เดินทางยากลำบากหรือไม่ การค้นหาหลักเขตและการวัดพื้นที่มีความเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร เป็นต้น ซึ่งบางทีก็ต้องมีรูปถ่ายประกอบด้วย เช่น เสาและหมุดหลักเขต ที่จะต้องเห็นเด่นชัดและถูกต้องตามโฉนดของกรมที่ดิน (สมัยก่อนต้องถ่ายด้วยกล้องฟิล์มแล้วต้องเอาไปล้างและอัดภาพก่อน จึงอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 วันจึงจะเอาเข้าให้คณะกรรมการอนุมัติได้ แต่ปัจจุบันนี้มีกล้องมือถือก็รวดเร็วกว่ามาก)

กรรมการที่ไปด้วยกับผมขอเสนอข้อสังเกตด้วยวาจาเพราะลืมเขียนลงไปในรายงานการตรวจสอบหลักทรัพย์ โดยบอกว่าการเดินทางเข้าไปถึงหลักทรัพย์(ที่ดิน)ค่อนข้างลำบาก จากถนนใหญ่เพื่อเข้าไปในชุมชนคือหมู่บ้านนั้นก็ลึกเกือบ 10 กิโลเมตร แล้วต้องขับรถไปตามถนนดินอีกเกือบ 3 กิโลเมตรจึงจะถึงที่ดินที่ไปตรวจ โดยรอบ ๆ เป็นท้องนา แลดูเปลี่ยวมาก ส่วนผมได้เขียนไปในรายงานแล้วว่า การหาเสาและหมุดหลักเขตค่อนข้างลำบากมากเพราะเป็นท้องนามีน้ำท่วมขัง ต้องล้อมดินบริเวณที่จะขุดหาหลักเขตเพื่อวิดน้ำออก ซึ่งผู้ยื่นกู้ได้ทำไว้แล้ว แต่ต่อไปก็อาจจะมีปัญหาเพราะหากน้ำท่วมนาน ๆ หรือไหลแรง ๆ ก็อาจจะทำให้หลักเขตเคลื่อนที่และหายากกว่าเดิม พอกรรมการคนนี้ที่เป็นผู้หญิงรายงานด้วยวาจาจบ ก็มีกรรมการอีกคนหนึ่งที่มาร่วมประชุมพูดเสริมขึ้นมาว่า มิน่าหละถึงได้ไปอยู่ไกลในที่เปลี่ยวถึงเพียงนั้น คงเป็นด้วยไม่อยากให้ชาวบ้านหรือคนอื่น ๆ มาเห็นว่าคนทั้งสองนี้ “อยู่กิน” กันอย่างไร แล้วก็มีคณะกรรมการอีก 2-3 คนหัวเราะกระซิก ๆ เพียงเบา ๆ เหมือนกลัวว่าจะเป็นการ “บูลลี่” คนทั้งสองนั้น

ในการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ประจำเดือนจะต้องมีวาระที่รายงานเกี่ยวกับสถานภาพของผู้กู้ในกิจกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นระยะๆ เช่น การใช้หนี้เงินกู้สม่ำเสมอดีหรือไม่ และถ้าเป็นการกู้เพื่อสร้างบ้าน อย่างรายของกมลกับกมลาก็จะต้องมีรายงานการก่อสร้างว่ามีความคืบหน้าไปด้วยดี หรือมีปัญหาล่าช้าขัดข้องอะไรหรือไม่ ซึ่งในรายของกมลกับกมลานี้ก็เป็นไปด้วยดี และไม่ถึงครึ่งปีก็สร้างบ้านเสร็จ มีการถ่ายรูปมาแสดงแก่คณะกรรมการให้เห็นอีกด้วย โดยเป็นบ้านใต้ถุนสูงชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนทาสีเขียวใบตองอ่อน ๆ ชั้นบนเป็นไม้ทาสีน้ำตาลแก่ และหลังคากระเบื้องลอนคู่สีฟ้า ตัวเรือนมี 9 เสา ชั้นมี 2 ห้องนอนกับนอกชานเชื่อมถึงกัน ส่วนชั้นล่างเป็นครัวและห้องน้ำ กับอีกครึ่งเป็นใต้ถุนโล่ง มีขนาดกะทัดรัดพออยู่พอสมกับที่อยู่กัน 2 คน

ปีต่อมาผมได้เป็นกรรมการสโมสรของมหาวิทยาลัย ทุกปีในเวลาที่มีกฐินของมหาวิทยาลัยไปทอด ณ จังหวัดต่าง ๆ สโมสรมีหน้าที่จะต้องจัดให้สมาชิกซึ่งก็คือบุคลากรของมหาวิทยาลัยนั้นได้ร่วมเดินทางไปร่วมทอดกฐินด้วย โดยมหาวิทยาลัยช่วยค่าเดินทางและค่าที่พักให้ส่วนหนึ่ง ในทำนองว่าเป็นสวัสดิการเพื่อการร่วมกุศลหรือบริการทางสังคมแก่ชุมชนที่มหาวิทยาลัยไปทอดกฐินนั้น ซึ่งก็จำกัดจำนวนคนเดินทางตามงบประมาณที่มหาวิทยาลัยจัดมา ในขณะเดียวกันสโมสรก็มีรายได้จากการให้พื้นที่เช่าขายอาหารและการออกกำลังกาย ก็นำรายได้ในส่วนนั้นมาเสริมเพิ่มเติม เพื่อให้มีผู้ร่วมคณะกฐินนั้นให้อุ่นหนาฝาคั่ง(สมฐานะหน้าตาของมหาวิทยาลัย) ซึ่งในปีนั้นกมลกับกมลาก็ร่วมเดินทางไปด้วย (โดยผมมาทราบภายหลังว่า ทั้งคู่มักจะเดินทางไปร่วมทอดกฐินของมหาวิทยาลัยเกือบทุกปี บ้างก็ค่อนแคะว่าคงเป็นการ “แก้กรรม” ที่เกิดมาเป็นคู่รักที่แปลกประหลาด บ้างก็กระแนะกระแหนว่าคงจะมาอวดตัวของทั้งคู่เพื่อให้สังคมได้รับรู้)

การมองคนอื่นมักมีปัญหาเสมอ เพราะแต่ละคนก็มักจะมองด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือมุมมองที่มองตาม ๆ กัน แต่ด้วยสายตาที่มองต่ำกับหัวใจที่คับแคบ