สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

คำว่า "เกศบัวตูม" เป็นพุทธเอกลักษณ์ของพระเกศขององค์พระที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมอยู่เหนือพระเศียร ชื่อ “พิมพ์เกศบัวตูม” นี้ มีทั้งในพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามและพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม จึงกลายเป็นกรณีถกเถียงกันมากที่สุด เรียกว่าเป็น “พิมพ์เจ้าปัญหา” ก็ว่าได้ โดยเฉพาะ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ใหญ่ ฐานสิงห์แคบ” ซึ่งมีพุทธศิลปะคล้ายคลึงกับ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์เกศบัวตูม” มากที่สุด ยิ่งศิลปะแม่พิมพ์ด้านหลัง คือ เป็นรอยหดเหี่ยวเหมือนสังขยา และที่ขอบพระทั้งสี่ด้านเป็นรอยกะเทาะเป็นแว่นๆ มีรอยปูไต่ซึ่งเป็นร่องรอยตัดตอกให้เห็นอย่างชัดเจน

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เกศบัวตูม ฐานสิงห์แคบ หน้า-หลัง

เนื่องจากความเหมือนของเอกลักษณ์ศิลปะแม่พิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพระสมเด็จวัดพิมพ์เกศบัวตูม ทั้ง 2 วัด เราจึงต้องมาพิจารณากันเป็นพิเศษในเรื่องมวลสารในการจัดสร้าง ลักษณะการตัดแม่พิมพ์ คราบขี้กรุ และการหดตัว เพราะพระสมเด็จทั้ง 2 วัด มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็จะสามารถแยกแยะระหว่าง “เกศบัวตูม“ ซึ่งเป็นพิมพ์เดียวกันได้ว่าเป็นพระวัดใด ดังนี้

เนื้อมวลสาร

ถึงแม้การสร้างพระสมเด็จทั้งวัดระฆังโฆสิตารามและวัดบางขุนพรหม จะสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เช่นเดียวกัน รูปแบบเนื้อหามวลสารก็เหมือนกัน แต่สัดส่วนการผสมนั้นมีความแตกต่าง พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะแก่ปูนมากกว่า มวลสารต่างๆ จึงน้อยกว่า ดังนั้น จะไม่ค่อยปรากฏร่อง “รอยรูพรุนเข็ม” จากการสลายตัวของมวลสาร หรือ “เม็ดพระธาตุ” เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังฯ

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เกศบัวตูม หน้า-หลัง

การตัดขอบแม่พิมพ์

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์เกศบัวตูม จะตัดแม่พิมพ์เหมือนกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ ทุกพิมพ์ คือคว่ำพระสมเด็จซึ่งยังอยู่ในแม่พิมพ์แล้วใช้ตอกตัดจากด้านหลังพระไปด้านหน้าพระ ศิลปะด้านหลังขององค์พระจึงปรากฏขอบทั้งสี่ด้านเป็นรอยปริกะเทาะและรอยปูไต่ไปในทางเดียวกัน คือการแยกของมวลสารอันเนื่องจากรอยลากของตอกที่ลากลงมาส่วนล่างขององค์พระ ส่วนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม เมื่อพิมพ์พระเสร็จแล้วสันนิษฐานว่าจะถอดพระออกจากแม่พิมพ์และวางราบกับพื้นแล้วใช้ตอกตัดจากด้านหน้าขององค์พระไปสู่ด้านหลัง เสร็จแล้วยกตอกขึ้นมาทำให้เนื้อของพระสมเด็จถูกตอกครูดขึ้นมาเป็นเหตุให้มีขอบพระปลิ้นขึ้น

พระสมเด็จวัดวัดระฆังฯ เกศบัวตูม หน้า-หลัง

คราบขี้กรุ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์เกศบัวตูม ไม่มีคราบขี้กรุอย่างแน่นอน จะมีก็แค่ร่องรอยของการจุ่มรักหรือรักน้ำเกลี้ยงเท่านั้น สำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม นั้น ส่วนใหญ่จะบรรจุในกรุพระเจดีย์จึงมีคราบกรุ ขี้กรุน้ำมันตังอิ๊วสีน้ำตาลเข้มที่ผุดขึ้นมาจากเนื้อขององค์พระ คราบฟองเต้าหู้ คราบเม็ดกรุเหมือนเม็ดทราย คราบดินขี้กรุ ซึ่งจะมีสีสันและเนื้อดินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ไม่เหมือนกับดินขี้กรุในวัดอื่น ถึงแม้ว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูมบางองค์จะขาวเกลี้ยงไม่มีขี้กรุ ผิวขององค์พระก็น่าจะมีคราบของแคลเซียมจับอยู่บางๆ นอกจากพระที่ถูกใช้แล้ว คราบแคลเซียมหายไปหรือสึกไปเท่านั้น

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เกศบัวตูม

การหดตัว-สลายตัวของมวลสาร

พระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นพระที่ไม่ได้บรรจุในกรุพระเจดีย์ สร้างเสร็จท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็แจกให้ญาติโยมเพื่อไว้บูชา องค์พระที่สร้างมานานประมาณร้อยกว่าปีจึงต้องมีการแห้งหรือหดตัว ตลอดจนมีมวลสารต่างๆ ที่สลายตัวและเปลี่ยนแปลงสภาพไป เป็นเหตุให้ปรากฏสภาพของมวลสารและผิวพระเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตราบเท่าทุกวันนี้ การหดตัวของพระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นในลักษณะที่หดตัวเสมอกันทั้งองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถ้าสังเกตรอยตัดขอบข้างขององค์พระจะตรงและแอ่นกลางเล็กน้อย ลักษณะการหดตัวจะต่างกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ซึ่งเมื่อสร้างพระเสร็จแล้วต้องนำพระมาผึ่งให้แห้ง ด้านหน้าจะถูกอากาศและหดตัว แต่ด้านหลังจะวางชิดกับพื้น จึงหดตัวน้อยกว่าด้านหน้า รอยตัดขอบข้างจึงมักจะไม่ตรง ในสภาพการสร้างพระครั้งแรกจะเอียงลาดเล็กน้อยให้เห็นชัดว่า ด้านหลังพระจะหดน้อยกว่าด้านหน้าขององค์พระครับผม

พระสมเด็จวัดวัดระฆังฯ และบางขุนพรหม เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดวัดระฆังฯ เกศบัวตูม