“ศาลฎีกา”พิพากษากลับ สั่งกองทัพบกชดใช้ 2 ล้าน ให้ครอบครัว “ชัยภูมิ ป่าแส” นักเรียน ม.4 ถูกทหารยิงเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.66 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ นางนาปอย ป่าแส เป็นโจทก์ฟ้อง กองทัพบก เป็นจำเลย ฐานละเมิด กรณีวันที่ 17 มี.ค. 2560 นายชัยภูมิ ป่าแส หรือ จะอุ๊ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวงซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขายิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุกล่าวอ้างว่าพบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่ชัยภูมิขับมา และชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุมและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิต โดยศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่ศาลฎีกาจะเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าพลทหาร ส.ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในชั้นไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย น่าเชื่อว่าพลทหาร ส.ใช้ปืนยิงเพื่อสกัดไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีโดยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อชีวิตของผู้ตาย แต่พลทหาร ส.นำอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามมีอานุภาพร้ายแรงไปใช้ปืนยิงสกัดไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีโดยตัวเองกำลังวิ่งไล่ตามอยู่นั้น ถือเป็นการกระทำโดยประมาท อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นพ้องด้วยกับฎีกาของโจทก์เพียงบางส่วน

ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิที่จะได้รับอุปการะตามกฎหมายซึ่งอาจกำหนดให้ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ความสามารถในการประกอบอาชีพของผู้ตายได้ความว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สี่ ทำกิจกรรมต่างๆ มีรายได้และช่วยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ทางผู้ตายมีผลการเรียนระดับดีมากน่าเชื่อว่าหากยังมีชีวิตจะสามารถสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ประกอบกับ ขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุ 45 ปี จำนวนเงินค่าขาดการไร้อุปการะที่โจทก์ขอมา จำนวน 1,952,400 บาท จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้ความแก่โจทก์เป็นเงิน 1,952,400 บาท และที่โจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจ กฎหมายแพ่งมาตรา 446 มิได้ให้สิทธิแก่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมเพื่อความเสียหายทางจิตใจจึงไม่อาจกำหนดให้ได้ ดังนั้นจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 2,072,400 บาทและโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ

ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มี.ค. 2560 ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์