สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

ที่เรียกขานกันมาว่าเข่าตรง คือพระบาทและตักจะเป็นเส้นตรง ส่วน “มือตกเข่า” ถ้าสังเกตที่ปลายนิ้วมือของพระหัตถ์ขวาขององค์พระซึ่งวางอยู่บนหัวเข่า จะยื่นเลยหน้าตักลงมาข้างล่าง

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง มือตกเข่า ในอดีตถือเป็นพระปัญหาอยู่เหมือนกัน เนื่องจากพุทธลักษณะมีส่วนคล้ายคลึงกับพระนางพญากรุโรงทอมาก แต่ ณ ปัจจุบันในวงการนักนิยมพระเครื่อง พระบูชา ลงความเห็นให้ถือเป็น “พระวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก” พระยอดนิยมหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี

เข่าตรงมือตกเข้าหน้า

“พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง มือตกเข่า” ตามชื่อเรียกก็บ่งบอกถึงพุทธลักษณะหลักเบื้องต้น “เข่าตรง” คือพระบาทและตักจะเป็นเส้นตรง ส่วน "มือตกเข่า" ถ้าสังเกตที่ปลายนิ้วมือของพระหัตถ์ขวาขององค์พระซึ่งวางอยู่บนหัวเข่า จะยื่นเลยหน้าตักลงมาข้างล่าง ซึ่ง "พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง" จะไม่มีปลายนิ้วมือนี้ นอกจากนี้จะมีจุดชี้ตำหนแม่พิมพ์ด้านหน้าและพิมพ์ด้านหลัง เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาดังต่อไปนี้

ตำหนิแม่พิมพ์ด้านหน้า การตัดพิมพ์ส่วนใหญ่ จะตัดกว้างกว่าพระนางพญาทุกพิมพ์ ทำให้มีพื้นที่ด้านหลังพระเป็นขอบทั้งสามด้านค่อนข้างมาก พระเกศเหมือนปลีกล้วย พระพักตร์ส่วนใหญ่จะดูเรียบร้อย ไม่มีหน้าตา แต่เฉพาะบางองค์ที่มีตา จมูก และปาก ถึงจะเป็นตาตุ่ยๆ แต่จะโปนมากและเห็นได้ชัดเจน เส้นกระจังหน้าจะมีลายเส้นติดกับพระเกศ หน้าผากด้านขวาขององค์พระจะยุบน้อยกว่าด้านซ้าย ระหว่างเส้นกระจังหน้ากับหน้าผากจะมีลายเส้นวิ่งขวางหน้าผากทั้งหมด 6 เส้น ปลายหูด้านขวาขององค์พระจะแตกเป็นหางแซงแซว ระหว่างหูด้านซ้ายกับพระพักตร์จะมีเม็ดผดในซอกหูอยู่ 4 เม็ด ปลายหูด้านซ้ายมือขององค์พระจะเชื่อมติดเป็นเส้นเดียวกับเส้นสังฆาฏิ เส้นอังสะจะวิ่งเป็นเส้นตรง ซึ่งผิดกับพระนางพญาเข่าตรง ที่เส้นอังสะจะวิ่งชอนเข้าใต้รักแร้ขององค์พระ เหนือเส้นอังสะจะมีเส้นพิมพ์แตก ท้องขององค์พระจะมีกล้ามเนื้อนูน สีข้างขององค์พระจะดูเหมือนเอาเนื้อมาพอกไว้ ปลายพระบาทจะมีเส้นแตกของแม่พิมพ์อย่างเห็นได้ชัด มีเม็ดผดขึ้นเต็มองค์พระทั่วๆ ไป อันเป็นเอกลักษณ์ของพระนางพญา

พระนางพญาเข่าตรงหน้า

ส่วนตำหนิแม่พิมพ์ด้านหลัง รอยตัดขอบทางด้านซ้ายมือจะตั้งเป็นสันคม รอยตัดขอบด้านขวามือจะเอียงลาดลงกว่าทางด้านซ้ายมือ รอยเหี่ยวย่นจะเป็นรอยคล้ายก้านไม้ขีด และเป็นรอยเฉียงตกมาด้านซ้ายตลอดองค์พระ จะปรากฏเป็นพื้นนูนกว่าตำแหน่งอื่น ซึ่งเกิดจากการหดตัวไม่เท่ากันของเนื้อดิน โดยเฉพาะส่วนล่างขององค์พระซึ่งตรงกับพิมพ์ด้านหน้าคือ พระบาท ตัก และพระหัตถ์ อันเป็นส่วนหนาขององค์พระจึงมีการหดตัวน้อย

เข่าตรงมือตกเข้าหลัง พระนางพญาเข่าตรงหลัง

จากจุดชี้ตำหนิทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คงจะพอพิจารณาจากรูปหรือองค์พระที่มีอยู่ แต่ที่แน่ๆ ให้ตรวจสอบจาก "เม็ดผด" อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งเรื่อง "ขนาดและสี" ตามลักษณะของพระเนื้อดินเผาเป็นอันดับแรกครับผม