เงินบาทแข็งค่า สัปดาห์หน้า 34.80-35.50/SET 1,390-1,455 จับตาตัวเลข ศก.ไทย-เงินทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย​สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ว่า เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการรายงานตัวเลข CPI ของสหรัฐฯ ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลัง CPI ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดมาก เงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ และทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนัก หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์และดัชนีราคานำเข้าเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด และกระตุ้นให้ตลาดมีความเชื่อมากขึ้นว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และตัวเลขการส่งออกเดือนต.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ของสกุลเงินในภูมิภาค รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. การประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน รวมถึงดัชนี PMI ขั้นต้นเดือนพ.ย. ของยูโรโซนอังกฤษ และสหรัฐฯ


ด้านความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุด หลังนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ตลาดประเมินว่า โอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน้อยลง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยกลับมาแกว่งตัวในกรอบแคบอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยจุดสนใจของตลาดอยู่ที่ประเด็นการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short Selling) ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อย อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงสวนทางภาพรวมจากแรงขายหุ้นธนาคารรายใหญ่แห่งหนึ่ง

สัปดาห์ที่ 20-24 พ.ย.2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,405 และ 1,390 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ความกังวลของนักลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับ Naked Short Selling บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ย. ของจีน

 

#ค่าเงินบาท #SET #ดอกเบี้ย #ราคาทอง #เงินเฟ้อ #NakedShortSelling