ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“...การอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน..และอยู่กับสิ่งนั้นให้ดีที่สุด..คือรากฐานของหลักคิดสำคัญของความเป็น “STOICISM” ..ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความกล้าหาญ..และการยอมรับในมิติของโชคชะตา..รวมทั้งความจริงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยพยายามที่จะต้องเข้าใจถึง...สถานการณ์ต่างๆที่เราเผชิญหน้าอยู่..

ลัทธินี้..เริ่มต้นในโรงเรียนนักปราชญ์แห่งอาณาจักรกรีกโบราณ “Citium”...ในคริสต์ศตวรรษที่ 3โดยผู้เริ่มต้นลัทธิคือ “ZENO... แต่มาเป็นที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาต่อมา..โดย..ผู้นำมาใช้จนแพร่หลายคือ.. “Epictetus Seneca” และ “Macus Aurelius”.. ปรัชญานี้..เน้นไปที่คุณธรรมและปัญญา..โดยเชื่อว่า..ความสุขและการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับ.. พฤติกรรมของเราเองมากกว่าจะมาจากคำพูด..หรือสิ่งเร้าจากภายนอกที่เราไม่ได้เป็นคนควบคุม..นั่นหมายถึงว่า..ชีวิตของเรา..ย่อมขึ้นอยู่กับตัวเราเอง รวมทั้ง การเลือกตอบสนองของตัวเราเองด้วย..”

ทุกวันนี้..ดูเหมือนว่า..เราจะใช้คำว่า Stoic..แทนภาวะของคนที่สามารถดำรงนัยสติได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด และ ไม่โดนกระทบกระทั่งด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบ “สุดโต่ง”.. เหตุนี้..เราจึงอาจสัมผัสได้ว่า..แท้จริงแนวคิดของสโตอิก..จะคล้ายเหมือนกับแนวคิดของพุทธศาสนา รวมทั้ง ลัทธิเต๋า..โดยเฉพาะในประเด็นของการแสวงหาความสุข จากการก้าวข้ามผ่านมุมมองแห่งความเป็นทุกข์และความขลาดกลัวใดๆ.."

นิยามแห่งหลักคิดข้างต้น..คือแก่นหลักของปัญญาญาณก่อนที่จะได้พบประเด็นสำคัญจากหนังสือ “THE LITTLE BOOK OF STOICISM” ..ที่ระบุถึงปรัชญาเสริมแกร่ง เพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน โดย “โยนัส ซัลซ์เกเบอร์” (Jonas Salzgeber)..ชายหนุ่มชาวสวิตเซอร์แลนด์..ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นคนดีที่สุดเท่าที่จะดีได้..ระหว่างความมุ่งมั่นในปรารถนานี้..เขาได้พบกับปรัชญาสโตอิกโดยบังเอิญ  ซึ่งมันตรงและตรึงกับจริตส่วนตัวของเขาอย่างถึงที่สุด..ด้วยแก่นของปรัชญานี้สามารถนำไปใช้ได้จริง..และมีเป้าหมายอยู่ที่การมีชีวิตอย่างมีความสุข แม้ในยามที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้าย..เขาได้แบ่งปันสิ่งที่เขาได้ศึกษาจากปรัชญานี้..เพื่อให้ผู้คนกลับมามีความมั่นใจ..และ พร้อมที่จะรับมือกับทุกสิ่งที่ความเป็นชีวิตถาโถมเข้าใส่..

“นี่คือ..หนังสือ..ที่จะนำพาผู้อ่านให้ได้พบกับปรัชญาอันมีคุณค่าต่อชีวิต..ปรัชญาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากชาวกรีกทุกชนชั้น และ ได้ถูกนำไปใช้เป็นหลักในการปกครอง ทั้งประชาชนและตนเองโดยจักรพรรดิโรมัน “มาร์คัส ออเรียส”..ผู้อ่านทุกคนสามารถจะพบว่า..ปรัชญาเก่าแก่ที่พยายามสร้างชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความหมายนั้น..ยังสามารถใช้งานได้ดี..แม้จะด้วยในวิถีของปัจจุบัน”

“สโตอิก” ..สอนให้เราต้องสนใจกับอะไรก็ตามในสัดส่วนที่เหมาะควร...โดยไม่ใช้เวลาไปกับเรื่องเล็กๆมากจนเกินไป ...เราจึงสามารถนำคำสอนนี้มาใช้กับการทำงานได้..เช่นการบริหารเวลาในการทำงาน หากเราแบ่งเวลาในการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม..เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น.. และ หากเราได้มีการควบคุมตัวเองให้ทำงานทีละอย่างได้โดยสมบูรณ์..ไม่ถูกรบกวน ก็จะส่งผลดีต่อการทำงานได้เหมือนกัน.. เหมือนดั่งเช่น..มีงานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันที่ชี้ให้เห็นผลดีในการทำงานทีละอย่าง..และผลเสียของการทำงานหลายๆอย่างพร้อมกัน..(Multi-tasking)..ซึ่งจะทำให้เรามีความสามารถในการจดจ่อต่องานลดลง..อีกทั้งยังใช้เวลาในการทำงานมากกว่าเวลาในปกติอีกด้วย.. ด้วยเหตุนี้ ระหว่างการทำงาน..เราจึงต้อง..

*ควบคุมความคิดตนเอง.. “Epictetus” นักปรัชญาแห่งสโตอิก..ได้กล่าวไว้ว่า.. “สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้ทำร้ายเรา..แต่ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นต่างหากที่ทำร้ายเรา” กล่าวคือ..เราสามารถเลือกได้ว่า..เวลาที่เราเจอกับงานที่ยากลำบาก..หรืองานที่ไม่เคยทำมาก่อน..เราจะเครียดและวิตกกังวลกับงานนั้น..เราจึงต้องค่อยๆตั้งสติ..แล้วทำงานนั้นให้เสร็จไปเรื่อยๆ..

*เลิกกังวล..ในเวลาทำงาน..หลายๆคนมักจะคิดลบเสมอ..เช่นงานที่ยังทำไม่เสร็จ หรืองานที่มีแนวโน้มว่าจะออกมาแย่..

เหตุดั่งนี้..เราต้องเลิกคิดและลงมือทำ.. “Marcus Aurelius” ..ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า.. “เราต้องเผชิญหน้ากับงานในแต่ละชิ้น ด้วยความคิดที่ว่ามันเป็นงานชิ้นสุดท้าย และ ต้องไม่สนใจสิ่งรบกวนต่างๆ..รวมถึงอารมณ์ที่ทำให้เราไม่ใช่เหตุผล..เพราะว่า..ความกังวลนั้นไม่ช่วยให้งานสำเร็จ..เราจึงสมควรที่จะต้องเอาเวลามาทำงานจะดีกว่า..”

*ต้องทำงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก..เวลาที่เราทำงานใหญ่ๆให้สำเร็จ เราต่างบอกตัวเองว่า ต้องทำให้สำเร็จในทีเดียว..ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก  และถึงขนาดทำให้บางคนไม่กล้าลงมือทำ..แต่ถ้าเราแบ่งงานนั้นออกเป็นส่วนงานย่อยๆ..เราก็จะพบกับความจริงหนึ่ง..ดังที่ “Plato” ได้กล่าวไว้..  “การทำเรื่องเล็กๆให้เสร็จเป็นอย่างดี..ยังดีเสียกว่า การบรรลุเนื่องใหญ่ๆ แบบที่ไม่สมบูรณ์แบบ..การแบ่งงานแบบย่อยๆ จะช่วยให้เรามีความคืบหน้าในการทำงานได้มากขึ้น..และมีความสุขกับการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย..”

คำว่า “สโตอิก” ณ ปัจจุบันมักมีความหมายถึงคนที่ไม่มีอารณ์ต่อความเจ็บปวด..ไม่รู้สึกสัมผัสถึงความปีติยินดีหรือโศกเศร้า..กระทั่งแม้แต่ความร่าเริงเบิกบาน สำหรับบุคคล..มันจึงหมายความถึง.. “บุคคลที่สามารถกดเก็บอารมณ์ และ..มีความอดทน”  หากเปรียบเทียบในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมกับยุคโบราณ..ก็จะพบว่า สโตอิกเมื่ครั้งโบราณนั้นถูกมองอย่างเข้าใจผิด..เนื่องจากการใช้คำนี้..ได้มาจากการแปลความที่ไม่ถูกต้องของยุคปัจจุบันซึ่งไม่ตรงกับความหมายโบราณ..

เนื่องเพราะ..คำว่า “สโตอิก” ถูกตีความหมายจนผิดเพี้ยนไปเป็นว่า เป็นความไร้อารมณ์หรือความเจ็บปวด..แต่จริงๆแล้ว.. “สโตอิก..” สอนถึงอิสรภาพที่มาจากวิถีแห่งการกระทำโดยอิงอยู่กับหลักของเหตุและผล.. ซึ่งตามความเป็นจริง..ลัทธินี้ไม่ได้มุ่งไปที่ การกับอารมณ์ เพียงแต่เป็น..การหลีกเลี่ยงการเสียอารมณ์ โดยการ พัฒนาทักษะการชั่งใจที่โปร่งใส..และ สร้างความสงบภายใน ด้วยการฝึกตรรกะ..ค้นหาสัจจะ ด้วยการไตร่ตรอง และ การเข้าถึงสมาธิ..คำสอนหลักของสโตอิก..จึงสรุปได้ว่า..มันคือ “การควบคุมตัวเองให้ปลอดพ้นจากการเกาะติดและจากอารมณ์กวนใจ” หรือ..มันคือเส้นแบ่งแห่งความพอใจที่เท่ากันในความปิติ.. หรือ ..ความเจ็บปวดที่ช่วยให้คนกลายเป็นนักคิดที่โปร่งใส ไม่มีความลำเอียง อย่างเสมอต้นเสมอปลาย..ข้อคิดที่ดียิ่งของ “สโตอิก” จึงคือ..การช่วยปรับปรุงจิตแห่งตัวบุคคล..ให้ดีขึ้น..

อันหมายถึง..จากคุณธรรม เหตุผล และ กฎธรรมชาติ..ที่ถือเปนตัวชี้นำสำคัญ..โดยมีความเชื่อว่า ความเชี่ยวชาญในการควบคุม “Passion” ตลอดจนอารมณ์ สามารถเอาชนะความไม่ร่วมแนว (discord)..ของโลกภายนอก และ จะได้รับความสุขสันติในตัวของบุคคลนั้นๆเอง.. วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม” บรรณาธิการของ a day BULLETIN..และ  ผู้เขียนหนังสือ..Everybody Hurt..แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างได้ความหมายอันงดงาม..โดยเฉพาะกับการปลูกสร้างในสัมผัสกับภาษาที่เฉียบคมและล้ำลึกทางความคิด..เพื่อให้ผู้อ่านทุกผู้ทุกคนได้ไตร่ตรอง..และมา ชำระหัวใจแห่งชีวิต..ให้ใสสะอาด...

ลองจินตนาการถึงตัวตนที่ดีที่สุดของตัวเองดู..และแสดงตัวตนสูงสุดออกมาในทุกขณะ/..ไม่มีต้นไม้ใดหยั่งราก..หากไม่เคยผ่านพายุที่โถมเข้าใส่../เพียงเพราะชีวิตตบหน้า..เตะ..ถ่มน้ำลายใส่ และสาดหมัดจนร่วงลงไปกอง..ก็ไม่ได้หมายความว่า..เราควรจะยอมแพ้และเดินหนีไป/...ศิลปะการใช้ชีวิตนั้น เหมือนมวยปล้ำมากกว่าการเต้นรำ/คุณธรรมหลัก 4 ประการของชาวสโตอิก ประกอบไปด้วยปัญญา..ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และ วินัย..ไม่ว่าจะมาจากศาสนาหรือวัฒนธรรมไหน ก็ย่อมให้คุณค่ากับคุณลักษณะที่ว่านี้/ใครที่ไหนจะมาห้ามเราจากการเป็นคนดีและจริงใจได้/ไม่ใช่ทุกคนที่จ้องตากับความกลัว และ กล้าลงมือทำไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น/อย่าโยนผ้ายอมแพ้ตั้งแต่เห็น..เค้าลางของความยากลำบาก/วินัยในตนเองก็เหมือนกล้ามเนื้อ..ยิ่งเราใช้มันเท่าไหร่ เราก็ยิ่งแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น/จงย้ายฝั่งจากเหยื่อที่เอาแต่พร่ำบ่น มาเป็นผู้กำหนดที่มีความรับผิดชอบ/เราไม่เคยตระหนักถึงเม็ดทรายของเวลาในขวดแก้วชีวิต ที่กำลังร่วงไหลลงมา/เราไม่ควรมองหาคำขอบคุณหรือการยอมรับสำหรับการทำในสิ่งที่ถูกต้อง..เพราะการทำในสิ่งที่ถูกต้องย่อมเป็นรางวัลในตัวของมันเองอยู่แล้ว/..สิ่งต่างๆไม่เกิดขึ้นเพื่อทำร้ายเรา มันก็แค่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง/แรงลมจะช่วยโหมกองเพลิง แต่จะดับเปลวเทียน/จงเป็นผู้ให้อภัย แม้ว่าผู้อื่นจะไม่ให้อภัยเราก็ตาม/ท่านจะรออีกนานเพียงใดกัน จึงจะเรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวเอง/ก็แค่ทำสิ่งที่ดีไปทีละเรื่อง/..ถึงเวลาที่จะเป็นในแบบที่คุณอยากจะเป็นแล้ว..วันนี้เลย..ไม่ใช่พรุ่งนี้../เราไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว ..แล้วเรายังจะผัดผ่อนอีกหรือ..จากนี้ไปให้ใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ที่เติบโตแล้ว../..หากไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง จงอย่าทำ..และ ถ้าไม่ใช่ความจริงจงอย่าพูด/..ฯลฯ../

เราอาจให้ข้อสรุปที่เป็นหลักยึดสำคัญได้ว่า..เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้เราจะรับรู้และรับรู้ในสถานการณ์แห่งความหมายของสโตอิก..ซึ่งหากมีการเปรียบเทียบก็คงคล้ายกับการทดลองสภาวะชีวิต..ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติและใช้มัน..กล่าวคือ ใจ ก่อนการพบกับปัญหา..มันคือการเตรียมตัวของเราให้พร้อม ในการที่จะยึดหลักการทางปรัชญาไว้ใช้..เพื่อการดำรงชีวิตที่จะต้องสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เราจะต้องพบเจอในอนาคต..ด้วยการ.. ฝึกทำในสิ่งที่กลัวหรือยากลำบาก.. “Seneca” ได้แนะนำว่า ในเดือนหนึ่งให้เราควรใช้เวลาไปกับการฝึกฝนความยากลำบาก ในการใช้ชีวิตอย่างคนยากจน รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย ใส่เสื้อผ้าที่ขาดเละเทะมากที่สุด หนีออกจากบ้านเสีย อย่าหาเตียงนอน ให้นอนกับพื้น..ฝึกฝนที่จะทำตรงข้ามกับสิ่งที่ตนต้องการ แล้วลองถามตัวเองดูว่า..นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการใช่หรือไม่?..การฝึกทำในสิ่งที่เรากลัว จะช่วยให้เราก้าวข้ามความยากลำบากในการใช้ชีวิตได้..

...ต้องฝึกการรับรู้ของเราต่อสภาพแวดล้อมให้เรียนรู้จากเรื่องแย่งเสมอ..มันเหมือนการปรับมุมมองทัศนคติ..โดยถ้าเรามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันแย่..มันก็แย่อย่างที่คิด..แต่ถ้าหากมองว่ามันคือโอกาสในการเรียนรู้..หรืออุปสรรคที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น..เราก็จะมองเห็นวิธีแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด และ สามารถเรียนรู้จากอุปสรรคนั้น....มีบางอย่างที่ควบคุมได้ และ บางอย่างอยู่เหนือการควบคุม..

บทเรียนข้อนี้..สำคัญมาก เพราะเรียกได้ว่า เป็นพื้นฐานของปรัชญานี้เลยก็ว่าได้ .เราต้องเรียนรู้ชีวิตถึงประเด็นสำคัญนี้..ต้องเรียนรู้ก่อนเลยว่า..ในชีวิตของเรานั้น .จะเป็นอย่างไร..มันขึ้นอยู่กับตัวเอง..ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดทั้งสิ้น..เพราะ..หากเรามัวแต่กล่าวโทษ..ร้องขอสิ่งต่างๆจากผู้อื่นเสมอ เราจะไม่มีวันเอาชนะชีวิตได้อย่างแน่นอน

สุดท้าย..ย่อมไม่มีสิ่งใดอยู่อย่างคงทนถาวร...ให้ตระหนักว่า..ชีวิตของมนุษย์เรานั้นเปราะบางยิ่งนัก...ความสำเร็จที่เคยพานพบเมื่อวันวาน ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไปในความทรงจำของผู้อื่น ไม่นานผู้คนก็ลืมเลือน จะมีก็เป็นเพียงตัวเราเท่านั้นที่ยังคงจดจำ..จะยิ่งใหญ่สักเพียงใด..สักวันก็กลายเป็นเพียงความทรงจำ..

ผมถือว่า..คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ผสานอยู่กับแก่นสารของปรัชญา แห่งการพินิจพิเคราะห์..ชีวิตจะฉายแสงได้ชัดเจนขึ้น..เมื่อเราเข้าใจในตัวตนแห่งรากลึกที่ยึดเหนี่ยวหัวใจแห่งชีวิตของเราเอาไว้..มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ ที่เปิดเปลือย และ ไม่หวั่นเกรงต่อความพลั้งผิดของโอกาสอันยากลำบากและมืดมนเพียงใด.. “หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นราวกับโชคร้าย..เราทำได้เพียงแบกรับมันไว้..ด้วยจิตใจอันสูงส่ง..”