ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

สรรพชีวิตล้วนต่อสู้เพื่ออยู่รอด แต่เมื่อสู้ไปเพียงลำพังแล้วไม่รอด ก็ต้องหาคู่เพื่อช่วยกันไปสู่ทางรอดนั้น

การใช้ชีวิตของกมลาดูจะมีปัญหาน้อยกว่าของกมล เพราะใคร ๆ ก็มองผู้หญิงว่าเป็นเพศอ่อนแอ แต่เมื่อได้เห็นว่ากมลาแข็งแกร่งแตกต่างจากผู้หญิงโดยทั่วไป ก็ได้แต่ชื่นชมว่าเป็นหญิงนักสู้และมีความสามารถเหนือชาย ในขณะที่กมลถูกมองว่าเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็งเด็ดขาด แต่กลับเป็นตรงกันข้ามที่กมลดูขี้กลัวและพยายามหลบซ่อนตัว นั่นก็เป็นเพราะเขาพยายามแอบซ่อนความเป็นหญิงที่ก่อเกิดขึ้นในตัวของเขานั่นเอง ซึ่งกมลาก็มองเห็นแต่ไม่ได้ดูหมิ่นดูแคลนอะไร กลับให้ความเห็นใจและให้ความใกล้ชิดมากขึ้น ๆ

ความจริงนั้นกมลาก็มีปัญหาในจิตใจอยู่มาก อย่างหนึ่งเธอก็รู้ว่าเธอ “ไม่ปกติ” ที่มีร่างกายเป็นหญิงแต่ความรู้สึกเป็นผู้ชาย จนถึงขั้นที่เธออาจจะแสดงความห้าวหาญจนมากเกินไป เพื่อไม่ให้ใคร ๆ เห็นความอ่อนแอนั้น แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เธอมีปัญหากับผู้ชายส่วนใหญ่ ที่แสดงอาการรังเกียจถึงกิริยาอาการที่ “ผิดเพศ” ดังกล่าว จนทำให้เธอมีเพื่อนผู้ชายน้อยมากหรือเกือบไม่มีเลย ในขณะเดียวกันเธอก็ต้องพยายามควบคุมอารมณ์บางอย่าง เพราะเมื่อเธออยู่ใกล้ชิดกับผู้หญิงที่น่ารัก ๆ แบบที่เรียกว่า “ตรงสเป็ค” เธอก็มีความรู้สึกอ่อนไหวขึ้นมาเหมือนกัน เพียงแต่เธอไม่ต้องการให้มิตรภาพระหว่างเธอกับเพื่อน ๆ ผู้หญิงเหล่านั้นต้องมีปัญหา เธอจึงต้องกดข่มจิตใจและแสดงอาการต่าง ๆ ไม่ให้ผิดปกติ

การที่ได้มาเจอกับกมลทำให้เธอรู้สึกว่า “ได้กำไร” คือทำให้เธอมีเพื่อนเป็นผู้ชายที่เธอหาได้ยาก พร้อม ๆ กับที่ได้ผู้หญิงในฝันที่เธอต้องการ ในขณะที่กมลเองก็รู้สึกเพียงแค่อยากได้คนที่เข้าใจในเพศสภาพของตัวเองในตอนแรก เพื่อพูดคุยกันให้สนิทสนมสบายใจ แต่เมื่อเห็นทีท่าของกมลาแสดงความเอาใจใส่ “เทกแคร์” เขาเกินกว่าคนที่อยากจะมามีความสนิทสนมโดยทั่วไป เขาก็พยายามระงับความตื่นเต้นและความแปลกใจของเขาไว้ เพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างปกติ ที่เขาก็คาดหวังว่าจะไปสู่หนทางอย่างที่เขาคิดหวัง นั่นก็คือการที่จะได้มีคนร่วมใช้ชีวิต ไว้ดูแลกันและกัน อย่างที่เขาคิดหวังมาตลอดชีวิตนั้น

ทั้งคู่ใช้เวลาทำความสนิทสนมกันอยู่กว่า 2 ปี จนถึงวันลอยกระทงในปีหนึ่ง กมลาก็ “บอกรัก” กมล คนทั้งสองมีหน้าที่คนละอย่างในวันนั้น ซึ่งงานลอยกระทงจะจัดขึ้นในสระน้ำใหญ่หน้าหอประชุมของมหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีเพื่อการแสดงต่าง ๆ และการตั้งโต๊ะอาหารนับร้อย ๆ ตัวรายรอบสระน้ำนั้น โดยกมลาเป็นคนหนึ่งในทีมที่ดูแลการประกวดนางนพมาศ ซึ่งแต่ละปีจะมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ บนถนนแจ้งวัฒนะและที่อยู่ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัยหลายหน่วยงาน ร่วมส่งนางนพมาศพร้อมกระทงที่ตกแต่งอย่างสวยงามมาร่วมประกวด กมลาก็ต้องจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนางนพมาศของแต่ละหน่วยงานนั้น เป็นต้นว่า ชื่อ นามสกุล หน่วยงานที่ส่ง และรายละเอียดเกี่ยวกับชุดที่สวมใส่กับการตกแต่งกระทงที่มาร่วมประกวด เพื่อเอาไว้ให้พิธีกรประกาศและสัมภาษณ์นางงามเหล่านั้น ส่วนกมลก็ดูแลอาหารและเครื่องดื่มที่ไว้รับรองผู้ร่วมงาน ซึ่งก็มีทั้งที่มีหน่วยงานต่าง ๆ นำมาออกร้านช่วยกัน กับที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้เอง

งานเริ่มตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็น เริ่มด้วยขบวนแห่นางนพมาศไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัย มาสิ้นสุดที่ริมสระน้ำ ให้นางนพมาศถ่ายภาพคู่กับกระทงที่ส่งมาร่วมประกวดก่อนที่ตะวันจะตกดิน จากนั้นก็เป็นพิธีเปิดและการแสดงต้อนรับ ต่อด้วยการประกวดนางนพมาศที่มีคณะกรรมการจากภายนอกตัดสิน เมื่อประกาศรางวัลและมอบรางวัลแล้ว ก็จะมีการรำวงก็เป็นอันเสร็จงานในเวลาสัก 3 ทุ่ม เมื่อแขกเหรื่อและประชาชนทยอยกลับไปแล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยช่วยกันทำความสะอาดสถานที่ รวมถึงเก็บกระทงและทำความสะอาดสระน้ำนั้นด้วย

กมลกับกมลาอยู่ช่วยกันกับคนอื่น ๆ หลายสิบคน ทว่าช่างบังเอิญที่ทั้งสองต้องมาทำงานเดียวกัน คือช่วยกันนำกระทงที่ส่งเข้าประกวดนั้นไปเก็บรักษาที่ใต้ถุนตึกด้านหน้า สำหรับให้บุคลากรที่คนที่มาทำธุระที่มหาวิทยาลัยในวันรุ่งขึ้นจะได้มาชื่นชมกระทงแสนสวยเหล่านั้น ด้วยร่างกายที่เป็นผู้ชาย กมลจึงได้ไปช่วยยกกระทง ซึ่งกระทงที่ส่งมาร่วมประกวดจะมีขนาดใหญ่กว่ากระทงทั่วไปเล็กน้อย บางกระทงก็ต้องช่วยยกสองคน แล้วก็เป็นโอกาสที่กมลากับกมลจะได้สารภาพรักกัน เพราะต้องช่วยกันยกกระทงขนาดใหญ่กระทงหนึ่ง

ทั้งสองสบตากันในขณะที่มือทั้งคู่ก็ประคองกระทงนั้นอยู่แต่ยังไม่พ้นน้ำ กมลหลบตาด้วยความอาย กมลาเสียอีกที่เป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อนว่า “ดูพระจันทร์กลางศีรษะเรานั่นสิ ดูเหมือนจะเป็นพระจันทร์ที่สวยที่สุดที่เคยได้เห็นมา” ก่อนที่ทั้งคู่จะนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วกมลาก็พูดขึ้นว่า เราอยู่ด้วยกันได้นะ ขอพระจันทร์นี้เป็นพยาน แต่กมลก็ก้มหน้าลงไปอีก คราวนี้ไม่ใช่เพื่อจะหลบหน้แต่ก็เพื่อจะมองหามือของกมลา แล้วกมลก็เอามือของเขาไปบีบมือของกมลาเบา ๆ ก่อนที่จะพูดเบา ๆ ว่า “อธิษฐานสิ เราอธิษฐานให้ตัวเองเข้าใจและอยู่กับเราตลอดไป”

แน่นอนว่ากมลาเป็นคนเปิดเผยรายละเอียดในฉากสารภาพรักนี้ อย่างที่บอกว่าแม้ทั้งคู่จะสนิทกับผม แต่กมลนั้นก็ยิ่งแสดงความเป็นผู้หญิงมากขึ้น คือเมื่ออยู่ต่อหน้าคนก็จะแสดงอากัปกริยาแบบผู้หญิงเสมอ ๆ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของผู้ชายในตัวของกมลาเป็นฝ่ายที่เล่าเรื่องให้ผมฟัง ซึ่งเมื่อผ่านงานลอยกระทงในวันนั้น ก็ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น จนถึงขั้นที่กับเพื่อนสนิทบางคน ทั้งคู่ก็แอบบอกไปบ้างแล้วว่าเขาทั้งสองจะแต่งงานกัน แต่คงจะเป็นการแต่งงานในทางพิธีที่อาจจะไม่ได้เชิญเพื่อน ๆ ไปร่วม รวมถึงญาติพี่น้องก็คงไม่ได้บอก เพราะอยากให้เป็นเรื่องส่วนตัวของทั้งคู่นั้นอย่างแท้จริง

ผมเองก็มาทราบเรื่องการแต่งงานของทั้งสองคนในตอนที่มาทำเรื่องกู้เงินปลูกบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปสัก ๗ - ๘ เดือน บ้านก็สร้างเสร็จ ผมก็เป็นกรรมการที่ได้รับมอบจากสหกรณ์ออมทรัพย์ไปตรวจรับงาน จึงได้เห็นว่าบ้านของทั้งสองคนนี้เป็นบ้านของ “คู่รัก” อย่างแท้จริง ทั้งสองพาผมชมบ้านอย่างภูมิใจ พร้อมกับอธิบายถึงบริเวณต่าง ๆ ว่าตกแต่งเป็นพิเศษอย่างไร โดยเฉพาะมุมที่เป็นส่วนตัวที่จะได้ทานอาหารทุกเช้าและเย็นด้วยกัน มุมทำงานอดิเรกคือการปลูกไม้ประดับที่ทั้งคู่ชื่นชอบ แล้วก็เล่าถึงอนาคตต่าง ๆ ของทั้งคู่อีกมาก

แม้ผมจะเกษียณอายุจากราชการแล้ว แต่ก็มีภารกิจที่จะต้องไปติดต่อกับมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง อย่างหนึ่งก็คือในเดือนธันวาคมของทุกปีก็จะต้องไปเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากจะไปรับแจกของรางวัลและเบี้ยประชุมแล้ว ยังจะได้ไปเจอเพื่อน ๆ และผู้คนที่มหาวิทยาลัย ปีที่แล้วก็เช่นเดียวกัน ผมก็ได้ไปเลือกตั้งอีกเช่นเคย ทั้งยังได้เจอกับกมลและกมลาที่เข้ามาไหว้ผมด้วยความดีใจเช่นกัน ผมก็ถามสารทุกข์สุกดิบของทั้งสองคน ทั้งคู่พูดแทบจะเป็นคำเดียวกันว่าพวกเขามีความสุขมาก ตอนนี้ญาติพี่น้องและผู้คนรอบข้างก็ยอมรับชีวิตของคนทั้งสองนี้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เขาทั้งสองมีความสุขมากขึ้น

ผมหยอดคำถามไปเล่น ๆ จากความคิดที่ค้างคาใจมานาน โดยไม่ได้หวังว่าจะได้รับคำตอบอะไรจริงจังว่า “ทำไมคุณทั้งสองจึงคิดแต่งงานกัน” แต่คำตอบที่ทั้งคู่ตอบขึ้นพร้อม ๆ กัน อันเป็นข้อคิดที่พิเศษเป็นที่สุดในชีวิตของผมที่เคยได้ยินมา

“เราเชื่อว่าการมีชีวิตคู่คือการต่ออายุให้กันและกัน ทั้งในโลกปัจจุบันและอนาคตในชาติต่อ ๆ ไป”