สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระสมเด็จจิตรลดา หรือ “พระกำลังแผ่นดิน” วัตถุมงคลอันทรงคุณค่าสูงส่งและเป็นที่หวงแหนยิ่งนักสำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานที่จะเก็บรักษาไว้สักการบูชาสืบต่อลูกหลาน ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้าง “พระสมเด็จจิตรลดา” ขึ้น เพื่อบรรจุที่ฐานบัวหงายของ “พระพุทธนวราชบพิตร” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. เพื่อประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยทรงตรวจพระพุทธลักษณะของพระปฏิมาด้วยพระองค์เองจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2508 และส่งมอบไปยังจังหวัดต่างๆ ในปี พ.ศ.2509

พระพุทธนวราชบพิตร

จากนั้นทรงมีพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติม เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ที่มีความดีความชอบและสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง แต่การสร้างในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมาก

เนื้อหามวลสาร

มวลสารประกอบด้วยผงมหามงคลจาก “สิ่งมงคลในส่วนพระองค์” และ “ผงมหามงคลร้อยแปด” อาทิ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต, เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา), สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์, ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง รวมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยและวัสดุมงคลจากสังเวชนียสถานชมพูทวีปอีกหลายแห่ง

พุทธลักษณะ–พิมพ์ทรง

เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว สีน้ำตาลแก่ มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ มีขนาด 2 X 3 ซ.ม. และพิมพ์เล็ก ขนาด 1.2 X 1.9 ซ.ม. จากจำนวนที่ทรงสร้างทั้งหมดไม่เกิน 3,000 องค์นั้น พิมพ์เล็กมีไม่เกิน 30 องค์ ลักษณะพิมพ์ทรงคมชัด ขอบขององค์พระทั้ง 3 ด้านจะป้านเฉียงออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย ปรากฏรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิขัดราบ ประทับเหนือดอกบัวบาน 9 กลีบ

พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ปี 2508 พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ปี 2509

แนวทางการพิจารณา

– พระพักตร์ คล้ายผลมะตูม

– พระเกศเด่นชัด

– พระกรรณทั้งสองข้างจะติดชัดเจน และโค้งอ่อนช้อย ยกเว้นทรงสร้างในปี 2508-2509 จะติดไม่เด่นชัด

– พระนาสิกเป็นสันเด่นชัด ยกเว้นที่ทรงสร้างในปี 2508-2509 จะไม่ติดเป็นสันเด่นชัด

– กลีบดอกบัวบานจะอ่อนช้อยได้สัดส่วน ส่วนมากมักมีฟองอากาศเป็นรูปเล็กๆ

– เกสรเหนือกลีบดอกบัวบานจะติดเป็นเม็ดกลมเรียงกันเป็นแถว และฟองอากาศเป็นรูเล็กๆ ยกเว้นที่ทรงสร้างในปี 2508-2509 มักจะไม่ติดเป็นเม็ดกลมและเรียงกันเป็นแถว

พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ปี 2511 พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ปี 2512

ประการสำคัญ ผู้ได้รับพระราชทาน “สมเด็จพระจิตรลดา” ทุกองค์ จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และมีใบประกาศนียบัตร (ใบกำกับองค์พระ) ทุกคนครับผม

พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ปี 2513 พระสมเด็จจิตรลดา (พระกำลังแผ่นดิน) ​​​​​​​ พระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก ​​​​​​​