สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระรอด พิมพ์ต้อ สาเหตุที่เรียกว่า “พิมพ์ต้อ” นั้น เนื่องด้วยองค์พระมีลักษณะต้อๆ สั้นๆ กว่าพระรอดพิมพ์อื่น เหมือนกับย่อส่วนไม่ได้ขนาด พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายใต้  โพธิ์บัลลังก์ มีฐานเขียงเป็นอาสนะสามชั้น องค์พระเตี้ยลํ่าคล้ายๆ กับพระพุทธรูปเชียงแสนศิลปะขนมต้มพระเศียรโตกว่าทุกพิมพ์ ส่วนเค้าพระพักตร์คนโบราณจะเรียกว่า “เป็นแบบเมล็ดพริกไทย” คล้ายกับพระรอด พิมพ์กลาง พระโอษฐ์สั้นเหมือนปลากัด และให้สังเกตที่พระกรรณ ซึ่งจะสั้นกว่าพระรอดพิมพ์อื่นๆ

พระรอด พิมพ์ต้อ จะมีขนาดใกล้เคียงกับพระรอดพิมพ์กลาง จุดสังเกตแม่พิมพ์อยู่ที่ องค์พระประธานจะมีขนาดใหญ่ ต้อ เตี้ย และสั้น เหมือนกับย่อส่วนไม่ได้ขนาด จึงนำมาเป็นชื่อพิมพ์ พระเศียรจะโตกว่าทุกพิมพ์ และปลายพระเกศส่วนมากจะเชื่อมต่อกับกิ่งโพธิ์กลาง ซึ่งพระรอดพิมพ์อื่นๆ จะไม่มีลักษณะเช่นนี้ หลักการพิจารณาพระรอด พิมพ์ต้อในเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้ดังนี้           

      

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระรอด พิมพ์ต้อ

- ไม่ปรากฏใบโพธิ์แถวใน พื้นผิวที่ติดองค์พระจะสูงลาดเอียงลงมาที่กลุ่มใบโพธิ์แถวนอก เฉพาะตรงปลายเส้นชี้นูนสูงที่สุด

- พระเกศสะบัดพลิ้ว คล้ายเปลวเพลิง

- พระพักตร์ ค่อนข้างป้อม และปลายพระหนุ (คาง) ตัด

- พระกรรณด้านซ้ายชัดกว่าด้านขวา ปลายพระกรรณจะเป็นห่วงคล้ายตะของอออก

- ในองค์ที่ติดชัด พระกรรณด้านขวาขององค์พระจะเล็กและบาง

- มีเส้นน้ำตก บริเวณพระกัประ (ข้อศอก) และใต้พระชานุ (เข่า) ด้านซ้าย      

- มีฐาน 3 ชั้น ชั้นบนใหญ่สุด ชั้นกลางเล็กสุด

- บริเวณด้านข้างขององค์พระจะมีปีกยื่นออกมา

- พระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ด้านขวาขององค์พระมีรอยถูกสับ

พระรอด กรุพระเจดีย์ วัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นพระเครื่องมีความงดงามทางพุทธศิลปะและความเป็นเลิศทางพุทธคุณครบครัน สมกับที่ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาดี การพิจารณาก็แตกต่างกันไปตามขนาด และเอกลักษณ์ของแม่พิมพ์ ต้องใช้การพิจารณา และจดจำรายละเอียดของแต่ละพิมพ์ ถึงจะแยกแยะพิมพ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องท่องแท้ ส่วนทางด้านพุทธคุณเชื่อกันว่า เด่นด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตราย และความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล และคงกระพันชาตรีครับผม