ป่าไม้ในจังหวัดน่านถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของเขื่อนสิริกิติ์ก่อนไหลมารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีปริมาณน้ำสมทบกว่า 40% เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนจำนวนมาก แต่ในช่วงหลายสิบปีก่อน พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายไปกว่า 1 ล้านไร่ จากการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่แห้งแล้ง ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า และหมอกควัน ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำจนนำมาสู่ความร่วมมือในการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ ซึ่งมิใช่เพียงแค่การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการปลูกป่าในใจคน ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ฟื้นระบบนิเวศ คืนผืนป่าน่านนับแสนไร่
ทิวเขาเขียวชอุ่ม เต็มไปด้วยอากาศบริสุทธิ์ของป่าต้นน้ำ ทำให้ จ.น่าน กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการมาพักผ่อน ลองใช้ชีวิตเนิบช้าที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความสุข ถือเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จอันทรงพลังของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่านที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เข้าไปร่วมดำเนินโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในพื้นที่ จ.น่าน อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้และทิ้งไว้รอการเติบโตเท่านั้น แต่ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการปลูกและบำรุงรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ผ่านการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ในการดูแลและปลูกซ่อมเมื่อต้นไม้ได้รับความเสียหายเพื่อให้มั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกเหล่านั้นจะอยู่รอดและเติบโตกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง โดยปัจจุบันต้นไม้ในแปลงปลูก FPT 4 ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคา-ป่าผาแดง ซึ่งเป็นแปลงปลูกแรกของ กฟผ. ใน จ.น่าน เติบโตจนมีเส้นรอบวงใหญ่ถึง 1.8 เมตร นอกจากนี้ยังสนับสนุนการปลูกป่าชุมชน (ป่าใช้สอย) ซึ่งชาวบ้านจะสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าป่าสงวน โดยมีคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนคอยดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา กฟผ. สามารถคืนพื้นที่ป่าให้ จ.น่าน ได้มากกว่า 1 แสนไร่ และยังเดินหน้าปลูกป่าต่อเนื่องภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574 ซึ่ง จ.น่าน ก็ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายด้วย 

ภาพเปรียบเทียบสภาพป่าต้นน้ำน่านเมื่อ พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2566 สืบสาน รักษา ต่อยอด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนา

ถึงแม้ว่าการปลูกป่าให้อยู่รอดจะเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การรักษาป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืนกลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า กฟผ. จึงมุ่งเน้นการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า” เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยปลูกที่ท้องคือ การสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน ปลูกที่ใจคือ การปลูกจิตสำนึกของประชาชนเพื่อให้เกิดความหวงแหน อนุรักษ์ป่า และปลูกในป่าคือ ป่าต้องอยู่รอด โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และแหล่งต้นน้ำลำธาร 

กฟผ. น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้กับชุมชนใน จ.น่าน จัดตั้งเครือข่ายชุมชนต้นแบบชีววิถี โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ ผักพื้นบ้าน สมุนไพร เพื่อบริโภคในครัวเรือน รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทดแทนสารเคมีการบำรุงดินและกำจัดแมลง สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์บางชนิดที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน เช่น กบ ปลาดุก ไก่ และวัว ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ นำมูลวัวมาทำเป็นปุ๋ย เลี้ยงไส้เดือน รวมถึงจัดทำต้นแบบการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว และยังช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ในที่สุด 

ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังร่วมกับมูลนิธิฮักเมืองน่านดำเนินโครงการกล้าดี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยเป็นผู้คิดริเริ่มและนำเสนอโครงการเพื่อสร้างพื้นที่ป่าสีเขียวให้กลับคืนสู่เมืองน่าน อาทิ โครงการผลิตไม้เท้าอัจฉริยะจากไม้ไผ่เพื่อผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน BCG Avocado Model ควบคู่กับการดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียวเพื่อเสริมสร้างทัศนคติการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแก่เยาวชนใน จ.น่าน จำนวน 9 โรงเรียน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวน่านผ่านโครงการแว่นแก้วร่วมกับธนาคารแว่นตา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) บริษัท หอแว่นกรุ๊ป จำกัด  ออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจวัดสายตาและมอบแว่นตาให้แก่ประชาชนผู้ขาดโอกาสและกลุ่มเปราะบาง และภิกษุสงฆ์ที่ประสบปัญหาทางด้านสายตาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาอย่างต่อเนื่องตลอด 14 ปี สามารถช่วยเหลือผู้มีปัญหาสายตาใน จ.น่าน กว่า 6,500 คน เพื่อร่วมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น 

พิธีมอบรางวัลโครงการกล้าดี ปีที่ 8 

กฟผ. ยังร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติเดินหน้าศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล” นำแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำในพื้นที่ จ.น่าน โดยเน้นการปลูกไม้ใช้สอย ไม้ใช้กิน และไม้เศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตเพื่อการบริโภค นำไม้บางส่วนไปใช้งาน และยังสามารถเก็บผลผลิตไปแบ่งปันและขายสร้างรายได้ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้นำชุมชนใน อ.นาน้อย อ.นาหมื่น และ อ.เวียงสา ซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เพื่อต่อยอดขยายผลปลูกป่าต้นน้ำ จ.น่าน เบื้องต้นกว่า 30,000 ไร่ และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวโพดมาเป็นการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจผสมผสานในสวนยางพาราเดิม ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจการฟื้นฟูดิน น้ำ และผืนป่าตามแนวพระราชดำริ เพื่อสร้างงานและรายได้ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ 

การผลิตปุ๋ยหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน เดินหน้า Smart City หนุนท่องเที่ยวสีเขียว
สำหรับด้านการท่องเที่ยว จ.น่าน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยร่วมกับ กฟผ. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมยามค่ำคืน ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างประสิทธิภาพสูง (LED) ภายในสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในเขตเทศบาลเมืองน่านประกอบด้วยวัดศรีพันต้น วัดมิ่งเมือง วัดสวนตาล และซุ้มลีลาวดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน พร้อมทั้งสนับสนุนระบบขนส่งยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ รถสามล้อไฟฟ้า รถรางไฟฟ้าชมเมือง รวมถึงติดตั้งสถานีชาร์จ EleX by EGAT เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากจุดเริ่มต้นของความตั้งใจในการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน สู่กล้าไม้ที่เติบโตจนเขียวชอุ่มด้วยพลังของชุมชนและทุกภาคส่วนจนคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ จ.น่าน อีกครั้ง นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นระบบนิเวศป่าต้นน้ำ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การสร้างความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงานตามเป้าหมายความยั่งยืนโลกต่อไป