สัปดาห์พระเครื่อง /โดย  อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

“พระผงสุพรรณ” นับเป็นสุดยอดพระเครื่องของจังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “พระชุดเบญจภาคี” ของไทย องค์พระมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงิน  แต่ที่เรียกว่า “ผงสุพรรณ” ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานกันเรื่อยมา

พระผงสุพรรณที่นับเป็นพระยอดนิยม จะเป็น ‘พระเนื้อดินเผา’ ซึ่งมีส่วนผสมวัสดุมวลสารจากดินละเอียด ว่าน และเกสรต่างๆ  คนโบราณเรียกว่า “พระเกสรสุพรรณ” จะสังเกตได้ว่าเนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด  สำหรับปัญหาที่ว่า  ‘หากผสมว่านเมื่อพระผ่านการเผา  ว่านจะต้องย่อยสลายไปนั้น’ ไม่เกิดกับพระผงสุพรรณ เนื่องด้วยกรรมวิธีของโบราณาจารย์นั้นมีมากมาย ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นการนำหัวว่านมงคลต่างๆ มาคั้นเอาน้ำว่านเป็นส่วนผสมเข้ากับมวลสารอื่นๆ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระผงสุพรรณมีความหนึกนุ่มและซึ้งจัด  ยิ่งเมื่อโดนเหงื่อไคลก็ยิ่งขึ้นเป็นมันเงางาม อย่างที่คนโบราณเรียกว่า  “แก่ว่าน” 

พระผงสุพรรณ เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก ทรงสี่เหลี่ยมทรงชะลูด จนดูเกือบจะเป็นสามเหลี่ยมตัดปลาย มีบางองค์ถูกตัดปลายออกสองด้านจนกลายเป็นห้าเหลี่ยมก็มี พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง ปางมารวิชัย บนฐานชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียวอันแสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทองที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เมื่อพบพิมพ์พระ 3 ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระพักตร์แบบพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม ซึ่งสมัยโบราณเรียก ‘พิมพ์หน้าหนู’ ส่วนพิมพ์ด้านหลังนั้น จะปรากฏลาย นิ้วมือแบบตัดหวายทุกองค์ อันเป็นศิลปะแบบอู่ทองเช่นกัน

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผา ศิลปะอู่ทอง องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว เค้าพระพักตร์จะมีเค้าความเหี่ยวย่นคล้ายคนชรา อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ และจะมีเพียงแม่พิมพ์เดียว  สาเหตุที่ดูเผินๆ  แตกต่างกันนั้น  เนื่องมาจากกระบวนการผ่านการเผาซึ่งได้รับความร้อนไม่เท่ากัน  ส่งผลให้ขนาด  สีสัน และการหดตัวไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การตัด  การบรรจุกรุ  และสภาพการใช้ ยังส่งผลต่อการพิจารณาพระผงสุพรรณด้วย

เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่

-  พระเนตรด้านซ้ายขององค์พระยาวรีและลึก ปลายพระเนตรตวัดสูงกว่าด้านขวาขององค์พระ

-  พระนาสิกหนาใหญ่ทั้งสองข้าง มีร่องลึกลงมารับพระโอษฐ์ ซึ่งแย้มเล็กน้อย

-  พระกรรณด้านขวาขมวดแบบมวยผม ไรพระศกทอดยาวลงมามากกว่าด้านซ้าย และตอนบนมีร่องลึกเหมือนร่องหู เหนือร่องจะหนาใหญ่และโค้ง ลักษณะคล้าย ‘ใบหูของมนุษย์’

-  ด้านในของพระกรรณข้างซ้ายขององค์พระ จะปรากฏเม็ดผดคล้ายเม็ดข้าวสารวางสลับไปสลับมา ถึงปลายพระกรรณ

-  พระอุระใหญ่บนก่อนจะคอดกิ่วมาทางพระนาภี ลักษณะคล้าย ‘หัวช้าง’

-  ระหว่างพระอุระกับพระอังสะทางด้านซ้ายขององค์พระจะเว้าลึก ปรากฏเป็นรอยสามเหลี่ยม

-  มีเส้นบางๆ ลากผ่านเหนือพระอังสะ (ไหล่) ด้านซ้ายขององค์พระ ไปจดขอบนอกพระอุระด้านซ้ายขององค์พระ และที่ปลายเส้นบางๆ นั้น จะปรากฏเม็ดผดเล็กๆ ขึ้นเรียงรายใต้ราวนมด้านซ้าย

-  พระหัตถ์ซ้ายขององค์พระหนาใหญ่ อยู่กึ่งกลางลำพระองค์ ปลายพระหัตถ์ไม่จดพระกรด้านขวาเหมือนกับ ‘พิมพ์หน้ากลาง’ มองเห็นร่องพระหัตถ์ชัดเจน

- ข้อพระกรด้านขวาขององค์พระด้านในเว้าลึก                   

            

“พระผงสุพรรณ” นับเป็นสุดยอดพระเครื่องของจังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “พระชุดเบญจภาคี” ของไทย สำหรับพุทธคุณของพระผงสุพรรณ กรุพระศรีรัตนมหาธาตุ มีพุทธคุณเป็นเลิศ ทั้งด้านโภคทรัพย์  แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพันครัยผม