‘รมว.ดีอี’ ขานรับแนวทาง ‘นายกรัฐมนตรี’ เดินหน้า 3 เครื่องยนต์หลัก เพื่อก้าวสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ผลักดันเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ พัฒนาศักยภาพประชาชน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ พร้อมเปิดทางสนับสนุน SMEs และ Startups ให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (ESG economy) และพร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตของ SMEs และ Startups ว่า กระทรวงดีอีให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมาโดยตลอด โดยมีแผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในอนาคต 

นายประเสริฐ กล่าวว่า เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะประกอบไปด้วย 3 ด้านสำคัญคือ เครื่องยนต์ที่ 1 มุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ในเวทีโลก ผ่านแผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ Digital Startup เน้นการสร้างระบบ Co-Investment และกองทุนเพื่อการพัฒนา Digital Startup Go Global ยกระดับศักยภาพการสร้างรายได้ของเกษตรกร สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น New World of Digital Content and E-SPORTS และเป็นจุดหมายทางการค้า การลงทุนในเวทีโลก ส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งธุรกิจ OTT Platform ในประเทศไทย พร้อมเร่งประสานแก้ไขปัญหาเพื่อให้การจัดตั้งธุรกิจมีความสะดวกและเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีธุรกิจประเภทต่างๆ โดยมุ่งพัฒนามาตรการหรือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นระบบนิเวศที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปรับตัวไปก่อนหน้าได้ 

นอกจากนี้เรายังมีเป้าหมายในการพัฒนา National Platforms เพื่อเป็นส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น และจะมีการดำเนินการยกระดับชุมชนสู่การเป็นชุมชนดิจิทัล หรือ One Community One Digital โดยการส่งเสริมให้ชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของรัฐบาลดิจิทัล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริการแก่ภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐในทุกมิติ และการเปิด API ให้ประชาชนและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมเร่งรัดให้เกิดบริการภาครัฐแบบ One Stop Service พัฒนาระบบ One Wallet ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contracts มาใช้สร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจภาคเอกชนสามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวก ปลอดภัย

ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ Digital Startup ไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ สร้างเครือข่ายนานาชาติและ Digital Diplomacy เชิงรุกระหว่างประเทศ โดยเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) และร่วมมือกับหน่วยงานด้านดิจิทัลระหว่างประเทศในเวทีพหุภาคี ส่งเสริมและกระชับความร่วมมือเชิงรุกในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศแถวหน้าด้านดิจิทัล และเร่งสร้าง Mega Program พลิกโฉมประเทศไทย ผ่านการพัฒนา ASEAN Digital HUB โดยการขยายผลโครงการ Thailand Digital Valley ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) และขยายเขตเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั่วประเทศ

เครื่องยนต์ที่ 2 มุ่งสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) ซึ่งเราได้ดำเนินการเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน/บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ผ่านแผนงานการสร้างศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการยกระดับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทั้งในระดับความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด 

เครื่องยนต์ที่ 3 มุ่งเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) โดยให้ความสำคัญกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศ ผ่านการสร้างโรงเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไทยทุกคน (Coding Thailand) และการสร้างห้องเรียนทางเลือกให้เด็กมีสิทธิเลือกเรียนวิชาชีพอนาคต ตรงใจ ตรงตัว ตรงงาน รวมถึงการสร้างเด็กอาชีวะดิจิทัล (Digital Skills for Future Industries) สร้างแรงงานที่มีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล โดยการสร้างห้องเรียนฟรีสำหรับคนไทยวัยทำงาน จัดให้มีห้องเรียนเปิดด้านดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของคนไทยได้เรียนฟรี 24 ชั่วโมง ช่วยให้คนวัยทำงานทุกคนมีโอกาส Upskill และ Reskill ทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองและทักษะอื่นที่จำเป็นสำหรับงานในโลกอนาคตพร้อมมีมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Incentives for Thais) 

ซึ่งการพัฒนาระบบการศึกษาด้านดิจิทัลรูปแบบเปิด (Open Digital University) มุ่งพัฒนาระบบการเรียนบนโลกดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยได้เรียนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก พร้อมดึงดูดกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน โดยให้มี Global Digital Talent Visa สำหรับผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลก มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวและทำงานกับบริษัทไทยที่มีความตกลงได้โดยสะดวก เพื่อประโยชน์ในการเติมเต็มกำลังคนของประเทศ และสร้างโอกาสด้านดิจิทัลให้คนกลุ่มเปราะบาง ผ่านแผนงาน Digital for ALL หรือการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต มีงานทำและมีรายได้

“กระทรวงดีอีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการยกระดับประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัล สนับสนุนการเติบโตของ SMEs และ Startups และวางรากฐานไปสู่รัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน Digital Government เปลี่ยนรัฐอุปสรรคมาเป็นรัฐสนับสนุนปลดล็อคศักยภาพของประชาชนและผู้ประกอบการให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่นเศรษฐกิจไปด้วยกัน เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการเปิดทางไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ดึงดูดนักลงทุนและยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในไม่ช้า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว