วันที่ 13 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายชาตรี พินใย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พร้อมด้วยนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) และพ.ต.ท. ปริญญา ศรีบุญสม ผอ.กลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าสอบเท็จจริงผู้ที่เกี่ยวข้องที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านพัฒนาการ  หลังพบมีมูลในการปฏิเสธรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บชายชาวไต้หวัน จนเป็นเหตุให้การรักษาล่าช้า ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงเวลา 01.50 น.ของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดย นายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า การสอบข้อเท็จจริงวันนี้ ทางโรงพยาบาลให้ความร่วมมืออย่างดี แต่พบว่ายังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับพยาน หลักฐาน ที่พบและสอบถามไปก่อนหน้านี้ 

ขณะที่ พ.ต.ท. ปริญญา ศรีบุญสม ผอ.กลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน  กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลไปแล้ว 3 คน  มีเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์เอราวัณ 1 คน และเจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุ 2 คน สำหรับประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับพยานหลักฐานบางส่วน เช่น การสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน เหตุผลที่ไม่ตรงกัน  

พร้อมกันนี้  นายชาตรี ยังกล่าวต่อว่า เวลานี้มีพยานหลักฐาน พยานบุคคล ภาพถ่าย ได้ครบหมดแล้ว จากการตรวจสอบพบพบหลักฐานบางส่วนว่ามีมูลจริง จึงให้รพ.ชี้แจงเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งอยากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างห้ามรพ.ปฏิเสธคนไข้ในทุกกรณี ต้องช่วยชีวิตเบื้องต้นก่อน ต้องปฏิบัติตามหลักการเบื้องต้นที่สพฉ. กำหนดไว้ ในการช่วยผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินก่อน ต้องช่วยชีวิตเพิ่อนมนุษย์ก่อน

โดยหลังจากนี้ทาง สบส.จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนพิจารณากรณีนี้ในสัปดาห์หน้า ในส่วน สพฉ. จะมีการตั้งการตั้งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน พิจารณาช่วงปลายเดือนธันวาคม หากมีความผิดจริงจะมีโทษ 2 ส่วน คือ โทษตาม พรบ.สถานพยาบาลพ.ศ.2541 มาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของ พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 จะเป็นโทษทางปกครอง มีโทษปรับ 100,000 บาท