12 ก.ค.ที่ผ่านมา อุณหภูมิในทะเลจีนใต้ที่ร้อนอยู่แล้ว ก็ยิ่งทวีดีกรีแทบจะแตะจุดเดือดกันไปเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพราะผลพวงจากภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลมาจากที่ ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ มีคำตัดสินออกมาในกรณีที่ฟิลิปปินส์ ยื่นฟ้องต่ออจีนในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ซึ่งพาดหัวข่าวกันทุกสำนักว่า เป็นฝ่ายฟิลิปปินส์ที่มีชัยเหนือพญามังกรไปได้ในเวทีนี้ อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ทะเลจีนใต้มีลักษณะเป็นทะเลกึ่งปิด (Semi-enclosed sea) ครอบคลุมอาณาบริเวณกว่า 648,000 ตารางไมล์ทะเล หรือ 2,222,000 ตร.กม. ตั้งแต่เกาะสิงคโปร์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปยังเกาะไต้หวันทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมีความกว้างจากเวียดนามไปถึงบริเวณมาเลเซียตะวันออก หรือซาบาร์ โดยทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง เป็นแหล่งทรัพยากรปริมาณมหาศาล เช่นทรัพยากรประมง แหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อการขนส่งระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของโลก จึงทำให้ประเทศต่างๆ ที่มีอาณาเขตทางทะเลอยู่ใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ต่างอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ โดยปัจจุบันมี 6 ชาติอ้างสิทธิ ได้แก่บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน และไต้หวัน ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ข้อพิพาทเหนือพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์มีความซับซ้อนคือ การที่แต่ละประเทศใช้เทคนิคในการอ้างสิทธิหลากหลายรูปแบบ เช่นการอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ (Historic Claim) ของจีน และไต้หวัน การส่งเรือลาดตระเวน และกองกำลังทหารเข้าไปยึดพื้นที่ หรือการสก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น ลานบิน อาคารที่พัก และประภาคาร เป็นต้น ชายคนหนึ่งเดินผ่านแผนที่แสดงอาณาเขตของจีน รวมทั้งพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ปัญหาในทะเลจีนใต้เกิดจากการประกาศเส้นฐาน (Baseline) ออกไป 200 ไมล์ทะเล ที่เรียกว่า "เขตเศรษฐกิจจำเพาะ" (Exclusive Economic Zone: EEZ) ซึ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นไม่มีอธิปไตย มีแต่เขตอำนาจ (Jurisdiction) ส่วนหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งถ้าดูในแผนที่ก็จะอยู่ในเขต 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ดังนั้นเวียดนามกับจีนก็จะอยู่ในสถานะเดียวกัน คืออ้างสิทธิเกิดเขตที่ตัวเองควรจะได้ สำหรับหมู่เกาะสแปตลีย์นั้นมีประเภทลักษณะทางภูมิศาสตร์ประมาณ 170 ประเภท มีภูมิศาสตร์ 400 แห่ง ในจำนวน 400 แห่งมีเพียงเกาะเดียวที่มีน้ำจืด คือเกาะอิตู อาบา ที่ไต้หวันมาครอบครองอยู่ มีพื้นที่ 0.43 ตร.กม. นอกนั้นก็มีประมาณ 10เกาะที่จีนครองอยู่ แต่กรณีที่ฟิลิปปินส์กับจีนที่ขัดแย้งกัน และฟิลิปปินส์ไปฟ้องนั้นเป็นกรณีของ "สกาโบโร โชล" (Scarborough Shoal) โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์อ้างภาคผนวกที่ 7 ของ "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล" ฉบับที่ 2 ปี 1982 (The United Nations Convention on the Law of The Sea: UNCLOS) ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อฟ้องร้องจีน โดย "อ้างถึงข้อพิพาทกับจีนเหนือเขตอำนาจในพื้นที่ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก" ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2556 จีนได้ส่งสารบันทึกวาจา (Note Verbale) ว่าด้วย "ท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้" (the Position of China on the South China Sea issue) ไปยังฟิลิปินส์ เพื่อปฏิเสธคำร้องของฟิลิปปินส์ โดยศาลประจำอนุญาโตตุลาการได้ดำเนินการรับคำร้องของฟิลิปปินส์เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว และได้แต่งตั้งคณะอุญาโตตุลาการจำนวน 5 คน ส่วนฝ่ายฟิลิปปินส์ได้แต่งตั้งผู้แทน (agent) ตามขั้นตอนการพิจารณา แต่ฝ่ายจีนก็ยังไม่มีท่าทีจะแต่งตั้งผู้แทนของฝ่ายตนแต่อย่างใด กล่าวโดยสรุปแล้วคำร้องฝ่ายเดียวของฟิลิปปินส์ต่อศาลประจำอนุญาโตตุลาการนั้นขอให้ศาลตัดสิน 3 ประเด็นได้แก่ 1) คู่พิพาทคือฟิลิปปินส์ และจีน มีสิทธิและหน้าที่เหนือน่านน้ำ ท้องทะเล พื้นดินท้องทะเล และลักษณะทางภูมิศาสตร์อื่นๆ ในทะเลจีนใต้ภายใต้ข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ และการอ้างสิทธิของจีนบนพื้นฐานของ "สิทธิทางประวัติศาสตร์" โดยใช้แผนที่ 9 เส้นประนั้น ไม่สอดคล้องตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ แต่อย่างใด 2) พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ เกาะ โขดหิน พื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด หรือสันดอนจมน้ำ ซึ่งถูกอ้างสิทธิโดยจีนและฟิลิปปินส์นั้น มีลักษณะตรงตามอนุสัญญาฯ หรือไม่ เพราะตามที่ฟิลิปปินส์เข้าใจ ถ้าพื้นที่เหล่านี้มีลักษณะเป็นเกาะ ตามคำนิยามของอนุสัญญาฯ ก็จะสามารถใช้ในการกำหนด "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" และไหล่ทวีป (Continental shelf) ให้ขยายออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล และถ้าเป็นโขดหิน ก็ทำได้เพียงกำหนดทะเลอาณาเขตไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล แต่ถ้าเป็นเพียงพื้นที่เหนือน้ำขณะน้ำลด หรือสันดอนจมน้ำ ก็ไม่สามารถกำหนดอาณาเขตทางทะเลได้ และฟิลิปปินส์ยังย้ำว่า กิจกรรมการถมทรายในทะเล หรือสิ่งปลูกสร้างใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะของลักษณะทางภูมิศาสตร์ตามคำนิยามของอนุสัญญาได้ ทั้งนี้ฟิลิปปินส์เน้นไปที่บริเวณสกาโบโร โชล และพื้นที่อื่นๆ รวม 8 แห่งใน กลุ่มหมู่เกาะสแปรตลีย์ 3) จีนได้ละเมิดอนุสัญญาฯ โดยเข้ามาขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยของฟิลิปนส์ และสิทธิอันพึงมีภายใต้อนุสัญญาฯ ด้วยการปลูกสิ่งก่อสร้าง และทำประมงซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2540 ขณะที่ ทหารเรือ สมาชิกสภา และนักการทูตฟิลิปปินส์ขึ้นฝั่งที่หินเล็กๆ ของสกาโบโร โชล ซึ่งมีธงชาติฟิลิปปินส์ที่ปักไว้โดยชาวประมงก่อนหน้า ขณะที่ อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงสาเหตุที่อนุญาโตตุลาการคณะนี้ยังเกิดขึ้นได้ ทั้งที่จีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมตั้งแต่แรก เนื่องจากบทบัญญัติของอนุสัญญากฎหมายทะเล เบื้องต้นต้องตั้งอนุญาโตตุลาการโดยฟิลิปปินส์ตั้งของตัวเองก่อน แต่ถ้าจีนเข้ามาสู่กระบวนการจีนก็จะตั้งของตัวเอง จากนั้นก็จะเลือกอีก 3 คน ซึ่งใน 3 คนนี้คนหนึ่งจะเป็นประธาน แต่จีนไม่เข้าร่วม สิ่งที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 7 เพื่อแก้ปัญหา คือให้ประธานศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (ITLOS) เป็นคนตั้ง จนเป็นที่มาของการได้ตัวอนุญาโตตุลาการทั้ง 5 คน อ. พนัสกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จีนไม่เข้ามาร่วมในกระบวนการพิจารณา เพราะจีนอาจจะมีหลักฐานที่บอกอยู่แล้วว่าในประวัติศาสตร์เป็นของจีน ไม่มีทางปฏิเสธได้ แต่เมื่อไม่เข้าร่วม จึงไม่มีโอกาสนำเสนอหลักฐานต่ออนุญาโตฯ แม้จะทำเป็นถ้อยแถลงไว้เป็นข้อสงวนไว้ก็ตาม สำหรับข้อโต้แย้งของจีนที่ว่าอนุญาโตฯ ชุดนี้ไม่มีอำนาจรับข้อเรียกร้องของฟิลิปปินส์ไว้พิจารณาชี้ขาดก็ได้แก่ จีนมองว่าโดยเนื้อแท้แล้วข้อเรียกร้องนี้เป็นเรื่องการอ้างอธิปไตยของฟิลิปปินส์เหนือน่านน้ำ และพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับการอ้างสิทธิของจีนทั้งหมด ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการตีความ หรือใช้บังคับบทบัญญัติของ UNCLOS ตามมาตรา 286 - 296 Section 2, Part XV จึงไม่สามารถบังคับให้จีนเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทภาคบังคับตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และนอกจากจะเป็นประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือพื้นที่ทางทะเลแล้ว การอ้างสิทธิทับซ้อนกันในบริเวณที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไหล่ทวีป ที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ก็เป็นปัญหาการแบ่งเขตทางทะเลของจีน กับฟิลิปปินส์ ซึ่งจีนได้ทำข้อสงวนเอาไว้แล้ว โดย Declaration of 26 Aug 2006 ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับบทบัญญัติของ UNCLOS มาตรา 286 -296 ว่าด้วยเรื่อง "ข้อยกเว้นการระงับข้อพิพาทภาคบังคับ" นอกจากนี้ จีนบอกว่าฟิลิปินส์มีข้อตกลงไว้แล้วว่า จะระงับข้อพิพาทโดยวิธีเจรจา และปรึกษาหารือแบบทวิภาคี จึงยังไม่มีสิทธิเริ่มต้นกระบวนการระงับข้อพิพาทภาคบังคับฝ่ายเดียวตามที่บัญญัติไว้ใน UNCLOSเพราะฟิลิปปินส์มิได้ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่จะต้องแลกเปลี่ยนความเห็นกับจีนก่อนเกี่ยวกับวิธีการระงับข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วอนุญาโตตุลาการได้มีมติเอกฉันท์เป็นที่สิ้นสุดว่า คณะอนุญาโตฯ ได้รับการก่อตั้งโดยชอบธรรมด้วยภาคผนวก VII ของ UNCLOSซึ่งถึงแม้จีนไม่เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาก็ไม่ทำให้คณะอนุญาโตฯ สิ้นเขตอำนาจการพิจารณาคดีนี้ตาม ANNEX VII Article 9 (Default of Appearance) ส่วนการที่ฟิลิปปินส์เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีนี้ฝ่ายเดียวก็มิได้เป็นการดำเนินกนระบวนการที่ไม่ชอบแต่อย่างใด และไม่มีคู่กรณีฝ่ายที่สามที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ซึ่งหากขาดการเข้าร่วมการพิจารณาคดีนี้แล้วจะทำให้คณะอนุญาโตฯ ไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้ นอกจากนี้ การที่มีประกาศหรือข้อตกลงต่างๆ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ ก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการเริ่มต้นกระบวนการระงับข้อพิพาทภาคบังคับ แผนที่แสดงบริเวณทะเลจีนใต้ ที่มีข้อพิพาทร่วมกันหลายประเทศ ด้าน ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร อดีตอธิการบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้จีนไม่พอใจการตัดสินมากที่สุดคือ การไม่รับรองสิทธิทางประวัติศาสตร์ ที่จีนยืนยันว่าเป็นชาติแรกที่ค้นพบเกาะมากว่า 2 พันปีแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานหลายอย่าง ได้แก่ ในปี 1960 ขณะนั้นรัฐบาลก๊ก มิน ตั๋ง เป็นตัวแทนของจีนที่ปักกิ่ง จีนได้แสดงหลักฐานว่าในปีนั้น สหรัฐฯ ต้องการไปเยือนเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะสแปตลีย์ต้องทำหนังสือขออนุญาตรัฐบาลจีนที่ไต้หวันก่อน หมายความว่า สหรัฐฯ เองก็ยอมรับว่าหมู่เกาะเหล่านั้นเป็นของจีน มีช่วงเดียวที่จีนไม่ได้มีอำนาจเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์คือปี 1930 เพราะถูกฝรั่งเศสเอาเรือเข้ามายึดเกาะต่างๆ ช่วงราชวงศ์ชิง จากนั้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นบุกอินโดจีน ได้มายึดครองเกาะต่างๆ ในสแปรตลีย์ แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสนธิสัญญากรุงไคโร สนธิสัญญบอสตัน ระบุชัดเจนว่า ญี่ปุ่นจะต้องคืนเกาะต่างๆ ที่ยึดมาด้วยกำลังให้กับจีน ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่สหรัฐฯ และพันธมิตรยอมรับแล้วทั้งหมด อ. สุรชัย เตือนว่า ศาลอาจไม่ได้ตัดสินตามตัวบทกฎหมายตรงไปตรงมา อาจจะพลิกแพลงได้ หรือตัดสินด้วยเหตุผลทางการเมือง ในกรณีนี้ จีนก็สงสัยว่า ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นปัญหาการเมือง เพราะก่อนหน้านี้จีนกับฟิลิปปินส์ก็เจรจากันอยู่ และไม่เคยเกิดปัญหาอะไร จนมาในปี 2554 สหรัฐฯ กลัวการทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน กลัวการเสริมกองทัพ กลัวการมีอิธิพลของจีน เพราะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของเอเชีย โดยมีจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐฯ จีดีพีของจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ในปี 2568 หลังอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาออกมาแล้ว สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรต่างกดดันเรียกร้องให้จีนยอมรับคำพิพากษา เพื่อรับรองกฎระเบียบโลกเพื่ออยู่กันอย่างสันติ แต่สิ่งที่จีนตอกกลับสหรัฐฯ ก็คือ สหรัฐฯ ไม่มีสิทธิที่จะมาพูดอะไรกับจีน เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกของ UNCLOS ไม่มีสิทธิไปบอกใครให้เคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ เพราะนั่นคือสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่ทำ เช่น ไม่เป็นสมาชิกของศาลอาชญากรสงคราม เพราะ กลัวว่าตนเองซึ่งมีทหารไปแทรกแซงอยู่ทั่วโลก อาจจะถูกจับข้อหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ขึ้นศาลอาชญากรสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ เห็นความร้ายแรงของกับระเบิด จึงมีกฎหมาย ห้ามการใช้กับระเบิดแต่ สหรัฐฯ ก็ไม่ลงนามอีก เพราะมีทหารเป็นตำรวจโลกอยู่ทั่วโลก ทำให้ต้องใช้กับระเบิด หรือการที่สหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อปี 2546 ก็ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่มีประเทศไหนจับสหรัฐฯ มาขึ้นศาลระหว่างประเทศได้ ท้ายที่สุดแล้วหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ที่มีการจับตามองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมว่าจะออกมาในลักษณะไหน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ปราศจากข้อความที่อ้างถึงคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ทำให้อาเซียนถูกมองอีกครั้งว่าเป็นองค์กรที่ทำอะไรไม่ได้ และอาจจะแตกแยกจากประเด็นนี้ แต่อ.สุรชัย ได้แนะเอาไว้ว่า "อาเซียน 10 ประเทศมีความแตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว แตกกันไม่น่าแปลกแต่สิ่งที่จะทำไม่ให้แตกก็คือ อย่างเลือกข้างในประเด็นทะเลจีนใต้ เพราะทราบกันดีว่า คำตัดสินนี้ก็ไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว เป็นเรื่องการเมือง กลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็เป็นประเทศทางชายฝั่งทะเล แต่ประเทศที่ไม่ได้ประโยชน์ก็มี" นักเคลื่อนไหวชาวฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เดินขบวนแสดงความยินดีต่อคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ที่ประกาศว่าจีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์ในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้