มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (มิตซูบิชิ มอเตอร์ส) ประกาศความสำเร็จ จากการที่ ออล-นิว ไทรทัน รถกระบะขนาด 1 ตัน ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด 5 ดาว จากการทดสอบการชนของรถยนต์ใหม่ โดย อาเซียน เอ็นแคป (ASEAN NCAP) ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อประเมินสมรรถนะด้านความปลอดภัยของยานยนต์รุ่นใหม่ที่วางจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มุ่งมั่นสานต่อปรัชญาของบริษัทฯ ในการนำเสนอมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเดินทางที่มีสถิติอุบัติเหตุเป็นศูนย์ ผ่านความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการจราจร

ออล-นิว ไทรทัน มาพร้อมระบบโครงสร้างตัวถังนิรภัย RISE ที่มีความแข็งแกร่งสูง สามารถรองรับแรงปะทะและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพของห้องโดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด พร้อมด้วยเข็มขัดนิรภัยและถุงลม SRS ทั้งหมด 7 ตำแหน่ง มอบความปลอดภัยขั้นสูงเพื่อปกป้องผู้โดยสาร และสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยเชิงป้องกัน ด้วยระบบความปลอดภัยสุดล้ำ อาทิ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC - Active Stability Control) ระบบควบคุมการลื่นไถล (TCL – Traction Control System) ระบบลิมิเต็ดสลิปแบบควบคุมด้วยเบรก (LSD - Active Limited Slip Differential Brake Control Type) และระบบเตือนการชนหน้าตรง พร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว (FCM - Forward Collision Mitigation) เพื่อปกป้องความปลอดภัยของคนเดินถนน  

ออล-นิว ไทรทัน เป็นรถกระบะขนาด 1 ตันของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่มีต้นกำเนิดมาจากรุ่นฟอร์เต้ (Forte) ซึ่งเปิดตัวในปี 2521 ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา รถกระบะรุ่นนี้ได้รับการผลิตมาแล้วกว่า 5.6 ล้านคัน ครอบคลุมทั้งหมด 5 เจเนอเรชัน วางจำหน่ายใน 150 ประเทศทั่วโลก ทำให้รถกระบะรุ่นนี้เป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับโลกของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส

ออล-นิว ไทรทัน เป็นรถกระบะเจเนอเรชันที่ 6 ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งคัน และเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “พลังแกร่งคู่ใจสายลุย” (Power for Adventure) ออล-นิว ไทรทัน ได้รับการพัฒนาพร้อมปรับโฉมใหม่ทั้งหมดในทุกมิติ ตั้งแต่การออกแบบภายในห้องโดยสารและรูปลักษณ์ภายนอก ไปจนถึงแชสซีส์ เฟรมหรือโครงรถแบบขั้นบันได และเครื่องยนต์ โดยเริ่มวางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตของรถกระบะรุ่นนี้ เป็นที่แรกในโลก และ เตรียมเปิดตัวในญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี 2567